วันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2554

Value Added ใครก็อยากทำ

Value Added ใครก็อยากทำ

วันนี้ขอเขียนบทความแบบวันเดียวจบบ้าง เพราะจะได้รู้ถึงพริกถึงขิงโดยไม่ต้องรอวันต่อไป วันนี้ผมขอเอ่ยถึงเรื่องการเพิ่มมูลค่า (Value Added) ให้กับผลิตภัณฑ์หรือบริการของคุณ เนื่องจากเพื่อลดระยะเวลาในการเขียน ผมขอเขียน value added แทนคำว่า "เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์" แล้วกัน พร้อมแล้ว ลุยเลย

ขออธิบายความหมายก่อน
ตามความหมายของฝรั่งเขา value added หมายถึง  "extra" feature(s) of an item of interest (product, service, person etc.) that go beyond the standard expectations and provide something "more" while adding little or nothing to its cost. Value-added features give competitive edges to companies with otherwise more expensive products. แปลตรงตัวได้ว่า ส่วนเพิ่มเติมที่เกินจากความคาดหวังของลูกค้าหรือเกินไปจากความตั้งใจให้ลูกค้า โดยที่ไม่เสียหรือเสียต้นทุนในการเพิ่มเล็กน้อย โดยการเพิ่มมลูค่านั้นสร้างการแข่งขันให้กับองค์กรในการขายผลิตภัณฑ์ที่ได้ราคาสูงขึ้น พิมพ์ไปแปลไปเริ่มงง สรุปได้ว่าคือ "การใส่ความพิเศษบางอย่างลงไปเพื่อให้สินค้าเราสู้กับคนอื่นได้โดยแทบไม่ต้องเสียงตังค์มาก"

ตัวอย่างแบรนด์ที่มี value added สูง
คิดง่ายๆว่าการมีมูลค่านั้นเป็นแบบไหน ผมลองยกตัวอย่างง่ายๆดูนะ
  • ถ้าคุณคิดถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ทางเรื่องของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ผมว่า 5 ใน 10 จะคิดถึงบริษัทแอปเปิ้ล อย่างแน่นอน ลองดูจากยอดขายไอแพด ไอโฟนทั่วโลก หรือในไทยก็แล้วแต่ (ถึงขั้นต่อแถวแย่งกัน)
  • ถ้าพูดถึงเครื่องดื่มในโลกนี้ ผมว่า 6 ใน 10 คงพูดถึงแบรนด์โค้กแน่นอน รู้หรือไม่ครับว่าตราผลิตภัณฑ์ของโคคา โคล่า มีราคาเท่าไหร่ .....ไม่สามารถประเมินได้ครับ
  • ถ้าพูดถึงรถหรูราคาแพง ผมว่าเด็กผู้ใหญ่ชายหญิงต้องตอบว่าพอร์ชก่อนแน่ ถึงแม้ว่าจะมีหลากหลายยี่ห้อแต่พอร์ชมักจะถูกพูดถึงเป็นอันดับแรกๆ
  • ถ้าพูดถึงการค้นหาข้อมูลบนอินเตอร์เน็ต ผมว่าคนไทยร้อยละ 100 คงเปิด google.com ก่อนแน่นอน
นี่ล่ะครับตัวอย่างง่ายๆของมูลค่าผลิตภัณฑ์ ซึ่งบางแบรนด์กว่าจะสร้างได้ใช้เวลานาน บางแบรนด์ใช้เวลาไม่ถึงปี ซึ่งขึ้นอยู่กับการให้ความสำคัญขององค์กรด้วย
ถ้าเอ่ยถึงแบรนด์ไทย ผมขอยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ถามนศ.ไทย อยากทำงานที่ไหน ทุกคนน่าจะตอบว่าอยากทำงานที่ SCG หรือ ถามชาวบ้านว่าจะซื้อรถกระบะยี่ห้ออะไร เกือบทั้งหมดต้องตอบว่า Toyota Vigo หรือถามคนใช้แรงงานว่าชอบดื่มเครื่องดื่มชูกำลังยี่ห้ออะไร ผมว่าส่วนใหญ่จะนึกถึง "กระทิงแดง"

ทำอย่างไร เพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์เรา
1. เอาข้อดีของเรามาทำให้เกิดมูลค่า ผมกำลังพูดถึงธุรกิจขนาดเล็กๆนะครับ เพราะสามารถทำได้ง่าย เรามองดูของดีของผลิตภัณฑ์เรามีดีอะไร เราเอาอันนั้นมานำเสนอหรือตัวเรา (เจ้าของ) มีอะไรดี นิสัยอะไรที่คนชอบ ที่ลูกค้าติดใจในตัวเรา เอาออกมาใช้ก็ได้ ตัวอย่างเช่น คุณตัน โออิชิ นำเสนอความน่ารัก ความซื่อของตนเองออกมาทางโฆษณา (ลองกลับไปดู) เพื่อสร้างให้คนรู้จักตนเพื่อนำไปสู่โออิชิ ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวก็นำมาใช้ในอิชิตันด้วย ซึ่งตอนนี้หลายคน เช่น เจ้าของเถ้าแก่น้อยเริ่มเอาตัวเองลงใส่โฆษณาแล้ว (เลียนแบบ) หรือไม่ลองดูตัวอย่างแหนมดอนเมืองที่เอารูปแม่เจ้าของมาอยู่ในแพ็คเกจเพื่อให้คนจำได้
2. สร้างความประทับใจตั้งแต่แรกจนถึงปัจจุบัน ข้อนี้สำคัญมากสำหรับคนทำธุรกิจ อย่าโกหก อย่าทรยศลูกค้า เราเคยดีกับเขายังไง จงทำต่อไป ไม่ว่าธุรกิจจะเจริญรุ่งเรืองมากแค่ไหน อย่าลืมลูกค้าในอดีตที่มีบุญคุณต่อเรา อันนี้ผมอาจจะพูดกว้างไปหน่อย แต่มันเป็นมูลค่าขององค์กรซึ่งจะยั่งยืนต่อไปในอนาคต
3. อย่าลืมกำพืดตัวเอง (Original) อาจจะดูรุนแรงไปหน่อย แต่ผมพูดถึงสินค้าที่เคยกำเนิดมาจากไหน จงรักษาต้นกำเนิดของตัวเอง จะเปลี่ยนไปได้แต่อย่าทิ้งความเป็นตัวตนไป เพื่อทำให้สินค้าออริจินัลยังคงอยู่กับลูกค้าต่อไป ผมยกตัวอย่างเช่น มันฝรั่งเลย์ จากแต่ก่อนแคยเป็นแผ่นหยักรสดั้งเดิม จนปัจจุบันนี้มีแผ่นบางเฉียบ ยี่สิบรสชาติแต่เลย์ก็ไม่เคยทิ้งกำพืดตัวเอง (ลองไปดูชั้นของ 7-11 สิครับ รสดั้งเดิมยังเรียงเป็นตับ)
4. อย่าตกยุค ใช่ครับ ทำสินค้าของเราให้อินเทรนด์เสมอ ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงยังไง เราต้องปรับตัวให้ได้ อาจปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ให้ทันสมัย แพ็คเกจดูดีตลอดเวลา การรีแบรนด์ (Re-Branding) บ่อยๆใช่ว่าจะดี เราต้องทำนานๆครั้ง เช่น เป๊บซี่ มีการรีแบรนด์บ่อยมาก ซึ่งเปลืองต้นทุนมากมาย เราใช้การปรับเปลี่ยนเล็กน้อยก็พอ (เพื่อสู้กับคู่แข่งได้)

นี่ก็เป็นตัวอย่างเล็กๆน้อยๆครับของการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ เนื่องจากอย่างที่บอก บางครั้งเราต้องใช้เวลา เพราะมูลค่าของแบรนด์คือความยั่งยืนขององค์กร ถ้าอยากรู้ว่าแบรนด์ของคุณนั้นมี value เพียงพอหรือยัง ลองสุ่มถามคนทั่วไปสิครับ เช่น คุณทำธุรกิจกล้วยตากที่พิษณุโลก ลองเดินไปถามนักท่องเที่ยวว่าจะซื้อกล้วยตากยี่ห้ออะไร ถ้าส่วนใหญ่ตอบว่าเป็นยี่ห้อเรา แสดงว่าแบรนด์เราเพิ่มมูลค่ามากถูกทางแล้ว เหมือนกับถามเพื่อนๆว่าไปกินอะไรดีแล้วทั้งกลุ่มบอกว่าไปกิน MK ล่ะครับ

พบกันใหม่พรุ่งนี้นะครับ อย่าลืมสร้างมูลค่าสินค้าและตัวเราเองด้วยนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น