วันเสาร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2555

Personal Tax: ภาษีคนเดินดิน ภาค 2 "หนทางลดหย่อน"

กลับมาอีกครั้งหลังหายหน้าหายตาไปนานเหมือนกัน แต่เนื่องจากว่าอยากจะแชร์วสิ่งดีๆเลยต้องหาเวลาว่างกลับมาอีกครั้งกับเรื่อง "ภาษี" เรื่องง่ายๆที่หลายคนมองข้าม มาต่อกันดีกว่านะครับเพื่อไม่ให้เสียเวลา

ส่วนลดหย่อน
ส่วนลดหย่อนนั้นทางสรรพากรมีไว้เพื่อให้เราใช้ลดการเสียภาษีให้น้อยลง แต่ไปเพิ่มผลด้านอื่นๆให้กับประเทศ ช่วยให้เกิดการลงทุนมากขึ้น เรามาลองดูว่าเราจะลดหย่อนอะไรได้บ้าง

1) ลดหย่อนส่วนตัว ผู้เสียภาษีได้สิทธิลดหย่อน 30,000 บาท ถ้ามีภรรยาหรือสามีที่ไม่ได้มีรายได้หรือมีรายได้แต่คิดภาษีรวมกันก็ลดหย่อนได้อีก 30,000 บาท รวมเป็น 60,000 บาท (หลายๆคนคงคิดหาคู่สมรสกันเป็นแถว)
2) ลดหย่อนของบุตร ลดได้ 15,000 บาทและ 17,000 บาทสำหรับบุตรศึกษาต่างประเทศและในประเทศตามลำดับ โดยมีข้อแม้ว่า ต้องอายุไม่เกิน 20 ปี หากเกินจะต้องศึกษาอยู่ระดับอุดมศึกษาแต่ได้ไม่เกิน 25 ปี (อยากลดได้เยอะต้องให้ลูกๆเรียนต่อปริญญาโทและเอกกันนะครับ)
ปล. ถ้าคู่สามีแยกกันคิดภาษีได้กันคนละครึ่งนะครับ
3) บิดามารดา (อายุ 60 ปีขึ้นไป ไม่มีเงินได้ด้วย) แบ่งออกเป็นบิดามารดาของผู้เสียภาษีและคู่สมรส ได้ 30,000 บาท รวมถึงเบี้ยประกันสุขภาพบิดามาราดาได้อีก 30,000 บาท ถ้าแยกกันเสียก็คิดบิดามารดาของใครของมัน
4) ลดหย่อนเพื่อสังคม คือคนพิการ (ที่มีบัตรลงทะเบียนเป็นผู้พิการ) ได้คนละ 60,000 บาท ถ้าสามีภรรยาอุปถัมป์ด้วยกันก็ได้คนละ 30,000 บาท (อันนี้ดีทั้งได้บุญและลดหย่อนภาษีด้วย
5) สวัสดิการส่วนตัว
ประกันชีวิต ลดหย่อนตามจริงของเบี้ยประกันที่เสียไป แต่จะต้องมีอายุกรมธรรม์ 10 ปีขึ้นไปและมีผลตอบแทนไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกัน (หลายๆคนชอบทำประกันเพื่อลดหย่อนกันมาก
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพลดหย่อนได้ไม่เกิน 10,000 บาท หากเกินให้ไปหักกับค่าใช้จ่าย (แนะนำพนักงานบริษัทควรทำไว้)
กองทุนรวมระยะยาว ลดหย่อนได้เท่ากับที่ลงทุนซื้อกองทุนไปแต่ไม่เกิน 15%ของรายได้พึงประเมินแต่ไม่เกิน 500,000 บาท
ดอกเบี้ยกู้ยืมจากอสังหาริมทรัพย์ ลดหย่อนตามที่จ่ายจริงในปีเสียภาษีแต่ได้ไม่เกิน 100,000 บาท
กองทุนประกันสังคม ลดหย่อนตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 9,000 บาท

เงินบริจาค
ก่อนที่เราจะนำเงินที่หักค่าใช้จ่ายและลดหย่อนไปคำนวณภาษี เราสามารถนำยอดเงินบริจาคให้กับภาคส่วนต่างๆของรัฐ (ที่สรรพากรกำหนดไว้) ทั้งด้านการศึกษา สุขอนามัย การกีฬาและอื่นๆอีกมากมาย (ลองโหลดจาก rd.co.th) โดยสามารถนำไปหักก่อนคิดภาษีได้ตามจริง แต่ต้องไม่เกิน 10% ของเงินที่หักค่าใช้จ่ายและลดหย่อนภาษีแล้ว ส่วนเงินบริจาคพรรคการเมืองนั้นไม่คิดรวมนะครับ

เงินได้สุทธิ
หลังจากหักค่าใช้จ่าย ลดหย่อนและเงินบริจาคแล้ว เราก็สามารถนำเงินที่ได้หรือที่เรียกว่า "เงินได้สุทธิ" ไปคำนวณหาภาษีได้

เงินได้สุทธิ = เงินได้พึงประเมิน - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน - เงินบริจาค


หลักการคำนวณภาษีก็ง่ายๆไม่ยากผมก็ขอไม่เอ่ยอะไรมากก็แล้วกัน

สรุปในภาคนี้ก็จะพบว่า จำนวนเงินการเสียภาษีบุคคลธรรมดานั้นจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับเงินได้สุทธิ ยิ่งเงินได้สุทธิสูงๆ ฐานอัตราการเสียภาษีก็สูงตามด้วย ดังนั้นถ้าอยากเสียภาษีน้อย ก็ต้องมีเงินได้สุทธิน้อยๆ ซึ่งจากสมการด้านบน ก็จะได้ว่าถ้าต้องการเงินได้สุทธิน้อยๆ ก็ต้องเพิ่มค่าลดหย่อนและเงินบริจาคมากๆ นี่ก็เป็นหลักง่ายๆ

หวังว่าภาคนี้จะให้ประโยชน์สำหรับคนทำงานที่เสียภาษีทุกคน เห็นมั้ยครับไม่ต้องเลี่ยงภาษีก็เสียภาษีน้อยๆได้ ช่วยชาติและได้บุญด้วย พบกันใหม่ครั้งหน้า...สวัสดีครับ

วันอาทิตย์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2555

Personal Tax: ภาษีคนเดินดิน ภาค 1 "รู้จักโครงสร้าง"

สวัสดีชาว SMEfriend กลับมาอีกครั้งหลังจากห่างหายไปนาน (แต่คงจะไม่ลืมกันนะครับ) ก็เรื่องเดิมๆคืองานประจำมันรัดตัวเหลือเกิน แต่วันนี้กลับมาเพราะใจมันเรียกร้องให้เขียนเหลือเกิน เพราะเป็นข่าวหน้าหนึ่งทั้งนสพ.ปกติและนสพ.บันเทิงกับประเด็นดาราสาวเลี่ยงภาษีโดยให้ใครก็ไม่รู้มารับเช็คแล้วใช้ชื่อแทน ซึ่งจริงเท็จยังไงผมไม่อาจจะไปก้าวก่ายมาก เพราะถือเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ใครจ่ายจริงก็ช่วยชาติ ใครเลี่ยงภาษีก็อย่าบอกว่ารักประเทศเลย แต่ประเด็นที่จะพูดถึงก็คือ "ไม่เลี่ยง แต่จ่ายน้อยลงได้มั้ย" ซึ่งจะให้เขียนทีเดียวหมดก็คงไม่ไหว ผมก็ขอแตกประเด็นเป็นหลายๆประเด็นดังนี้นะครับ
1) โครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดา (Personal Income Tax) ประกอบด้วยอะไรยังไงบ้าง
2) ทำอย่างไรจะเสียภาษีลดลง มีวิธีไหนบ้าง
สำหรับภาคนี้ก็ขอเริ่ม introduce เรื่องภาษีบุคคลธรรมดาของสยามประเทศเรากันเลยนะครับ

ภาษีบุคคลธรรมดา
ภาษีบุคคลธรรมดา เป็นภาษีที่ให้บุคคลทั่วไปที่มีรายได้จะต้องจ่ายภาษีให้กับรัฐเพื่อนำไปพัฒนาประเทศ โดยผู้ที่ประกอบอาชีพในหลากหลายสาขาก็จะต้องเสียภาษี ซึ่งแต่ละสาขาจะมีการคิดภาษีแตกต่างกันไป
โครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดา
การที่เราจะรู้ว่าเราสามารถจ่ายภาษีลดลงตรงไหนบ้างนั้น เราจำเป็นต้องรู้จักโครงสร้างของภาษีบุคคลธรรมดาเสียก่อน เพื่อ "รู้เขา รู้เรา" ทำให้เราสามารถรู้ช่องทางในการลดหย่อนภาษีได้ โดยที่โครงสร้างของภาษีบุคคลธรรมดาของไทยแลนด์นั้นประกอบด้วยส่วนต่างๆคือ

1. รายได้พีงประเมิน ตามอาชีพต่างๆ >>> ภาค 1
2. ส่วนที่หัก "ค่าใช้จ่าย" (ตามแต่ละสาขาอาชีพ) >>> ภาค 1
3. ส่วนลดหย่อน >>> ภาค 2
4. ส่วนหัก "เงินบริจาค" >>> ภาค 2
5. เงินได้สุทธิ (เอาไปคำนวณภาษี) >>> ภาค 2
5. ส่วนต่างๆที่ต้องหัก เช่น หักเงินภาษีอสังหาริมทรัพย์ ภาษีรถยนต์ (อนาคต) >>> ภาค 3
6. ภาษีหัก ณ ที่จ่าย, ภาษีส่วนเกิน >>> ภาค 3

รายได้พึงประเมิน
รายได้พึงประเมิน ถ้าพูดเป็นภาษาไทยก็คือเงินที่เราได้มาจากการทำมาหากินน่ะล่ะ หลากหลายอาชีพรายได้ก็ไม่เท่ากัน ดังนั้นเขาจึงแบ่งรายได้พึงประเมินออกเป็น 8 ประเภท ได้แก่

ประเภทที่ 1 เงินที่ได้จากการจ้างงาน
- เงินเดือน เบี้ยเลี้ยง โบนัส
- เงินค่าเช่าบ้าน (สำหรับที่องค์กรหรือบริษัทให้)
- เงินที่นายจ้างออกให้ (แต่จริงๆเราออกเอง)
- เงิน ทรัพย์สินหรืออะไรก็ได้ที่ได้มาจากการจ้างงาน เช่น รถยนต์ บ้าน ที่บริษัทมอบให้
ประเภทที่ 2 เงินประจำตำแหน่ง
- เบี้ยประชุม
- รายได้อื่นๆที่ได้มาเพราะตำแหน่ง
ประเภทที่ 3 ค่ากู๊ดวิลล์ (ยากเลย..)
- เงินจากค่าลิขสิทธิ์รายปี
- เงินพินัยกรรมรายปี
ประเภทที่ 4 ดอกเบี้ย ปันผลจากการโอนหุ้น
- ดอกเบี้ยจากพันธะบัตร หุ้นกู้
- เงินปันผล ผลกำไรจากกุ้น
- ผลประโยชน์จากการร่วมหุ้นบริษัท
*** สามารถหักภาษี ณ ที่จ่ายได้
ประเภทที่ 5 เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน
ประเภทที่ 6 เงินได้จากการวิชาชีพอิสระ
- ทนายความ หมอ วิศวกร สถาปัตย์ บัญชี
ประเภทที่ 7 เงินได้จากการรับเหมา
ประเภทที่ 8 เงินได้จากการทำธุรกิจ อุตสาหกรรม เกษตรกรรม ขนส่ง อสังหาริมทรัพย์

รายการหักจากรายได้พึงประเมิน
ประเภทที่ 1 เงินที่ได้จากการจ้างงาน
ประเภทที่ 2 เงินประจำตำแหน่ง
ทั้งสองประเภท จะมีรายการหักค่าใช้ตจ่ายคือ
1) เงินสะสมของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กบข.
2) ค่าใช้จ่ายของผู้เสียภาษี 40% ของรายได้พึงประเมินสองประเภทหักเงินสะสมต่างๆ แต่ไม่เกิน 60,000 บาท
3) ค่าใช้จ่ายของคู่สมรส (กรณีจ่ายร่วมกัน)

ประเภทที่ 3 ค่ากู๊ดวิลล์ (ยากเลย..)
- ค่าลิขสิทธิ์ของผู้เสียภาษีและคู่สมรสหัก 40%ของรายได้แต่ไม่เกิน 60,000 บาท

ประเภทที่ 5 เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน
- โรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง หักค่าใช้จ่าย 30% ของเงินได้หรือตามจริง (ถ้ามีเอกสารแนบ)

ประเภทที่ 6 เงินได้จากการวิชาชีพอิสระ
- หักค่าใช้จ่าย 60% ของรายได้หรือตามจริง

ประเภทที่ 7 เงินได้จากการรับเหมา
- หักค่าใช้จ่าย 70% ของรายได้หรือตามจริง

ประเภทที่ 8 เงินได้จากการทำธุรกิจ อุตสาหกรรม เกษตรกรรม ขนส่ง อสังหาริมทรัพย์

หลังจากที่เราได้คำนวณรายได้พึงประเมินรวม ทั้ง 8 ประเภทพร้อมหักค่าใช้จ่ายออกไปแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการนำไปหักค่าลดหย่อน ซึ่งติดตามต่อไปในภาคที่ 2 นะครับ