วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2554

4Ps กับธุรกิจกาแฟสด (ภาคสุดท้าย)


บทความแรกของบล็อกเกอร์คนใหม่ใน SMEfriend ดีไม่ดียังไงแนะนำติชมมาได้นะครับ
ก่อนอื่นขอบอกก่อนเลยว่าบทความต่อจากนี้ของผมและ SMEfriend จะเป็นบทความอ่านง่ายภาษาบ้านๆเพื่อให้ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกการศึกษาอ่านได้ แต่ถ้ามีคำศัพท์เฉพาะผมก็จะนิยามความหมายไว้นะครับ

4Ps กับธุรกิจกาแฟสด

เป็นไงครับกับ 3-P: Place Product และ Price ที่ผมได้เขียนไปก่อนหน้า ต้องบอกไว้ก่อนเลยนะครับว่าผมก็ไม่ได้เชี่ยวชาญด้านกาแฟ ร้านกาแฟแต่อย่างใด แต่ผมมองโดยใช้หลักกลยุทธ์การตลาดบวกกับจิตวิทยาซึ่งเป็นของคู่กันมาอธิบายแบบง่ายๆ

วันนี้เป็นคิวของตัวสุดท้ายแล้ว P-Promotion หรือการส่งเสริมการขายหรือชาวบ้านๆเรียกกันว่า "โปร" นั่นล่ะครับ ว่าด้วยการส่งเสริมการขาย มันมีหลายวิธีหลายเทคนิคที่เขายนำมาใช้กัน การส่งเสริมการขายไม่ใช่แค่ลดราคา ขายถูกๆอย่างเดียว มันรวมถึงหลายๆอย่าง การจัดอีเวนท์ (Event) การขายพ่วง ฯลฯ ก็ถือเป็นการส่งเสริมการขายเหมือนกัน หลายๆคนมักเข้าใจผิด ชอบคิดว่าการจัดโปรคือลดราคา ซึ่งจริงๆแล้วมันคือส่วนหนึ่งเท่านั้น

การส่งเสริมการขายกับร้านกาแฟ ผมจะขอพูดเกี่ยวกับศิลปะกับการอัดโปรแล้วกัน อะไรที่เขาทำกันเป็นปกติแล้ว ผมไม่ขอพูดถึงแล้วกันเพราะเราสามารถศึกษาจากร้านต่างๆได้ วันนี้ผมจะพูดถึงศิลปะการส่วเสริมการขายโดยการที่ไม่ต้องลดราคา ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก ต้นทุนเพิ่มนิดหน่อย ลองติดตามอ่านแล้วกัน

โปรโมชั่นแรก แยกลูกค้า หลายคนอาจงงว่าแยกลูกค้าทำไม ทำยังไง ที่ผมพูดถึงคือ การแยกลูกค้าออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มลูกค้าประจำ และลูกค้าขาจร กลุ่มหลังนี่เราไม่ต้องไปเอาใจให้โปรโมชั่นอะไรมากเพราะเขามาวันเดียวก็จากไป หรือนานๆมาที ไม่ใช่ว่าไม่สนใจนะแต่เอาไว้ทีหลัง ที่ผมให้ความสำคัญคือลูกค้าประจำ ประจำที่พูดถึงคือ ทุกวัน ทุกสัปดาห์ เพราะพวกนี้ล่ะทำให้ธุรกิจเราอยู่ได้ คุณลองใช้โปรโมชั่นลับๆกับกลุ่มนี้ดู เช่น บอกเป็นรายบุคคลว่าถ้ามาทุกวันห้าวันติดแถมขนมเค้กหรือกาแฟให้ฟรี รับรองห้าวันไม่มากเกินไป ถ้ากาแฟคุณอร่อยจริงพวกเขาจะกลับมาทุกวันและจะยอมรับโปรของเราโดบปริยาย ซึ่งเสียต้นทุนไม่เท่าไหร่เมื่อเทียบกับกำไรจากกาแฟห้าวันที่ผ่านมา แบบนี้เราก็จะได้ลูกค้ากลุ่มหลักของเรา ดีไม่ดีเกิดการบอกต่อก็จะทำให้คนอื่นๆหันมาดื่มกาแฟร้านเรามากขึ้นจนกลายเป็นลูกค้าประจำและได้โปรโมชั่นของเราต่อไป โดยโปรโมชั่นนี้ส่วนใหญ่จะได้กับพวกพนักงานออฟฟิศ แม่บ้าน

โปรโมชั่นสอง มื้อสาย มื้อบ่าย เดี๋ยวนี้วิถีชีวิตของคนสมัยใหม่เปลี่ยนแปลงไปมาก คนมักไม่นิยมกินข้าวเช้าแต่กินขนมตอนสาย ไม่กินมื้อเที่ยงแต่ซัดอีกทีตอน Tea break (พักกินชากาแฟ) นั่นล่ะคือช่องทางของเรา มื้อสาย เราจัดแพ็คเกจซื้อกาแฟพ่วงแซนวิซร้อน (รับเขามาหรือทำเอง) โดยยอมลดราคารวมสองอย่างลงมาหน่อยนึง เพื่อดึงดูดให้ลูกค้ามาแวะทานอาหารเช้าที่ร้านของเรา เช่นเดียวกับมื้อบ่าย เราจัดแพ็คเกจกาแฟยามบ่ายกับขนมเค้กเพื่อดึงดูดได้อีกทางหนึ่ง อย่างนี้ล่ะครับ ได้ทั้งลูกค้าตอนเช้าและบ่ายในวันเดียว ซึ่งบางครั้งถ้าร้านตั้งในย่านชุมชน ย่านธุรกิจ อาจมีบางคนแวะมาสองครั้งเลยก็ได้ เช้ากาแฟกับแซนวิซ บ่ายชาเย็นกับขนมเค้ก เพอร์เฟกท์มากๆ

โปรโมชั่นที่สาม ห้องประชุมขนาดเล็ก บางช่วงเวลาของร้านอาจไม่มีลูกค้าเข้า มีมุมว่างๆโต๊ะเล็กๆสักตัวเก้าอี้สามสี่ตัว สามารถเนรมิตรเป็นห้องประชุมได้ อาจได้กลุ่มนักธุรกิจนัดมาคุยงานกันง่ายๆที่ร้านเรา เราก็เตรียมจัดชุดสำหรับสามสี่คนไว้ทั้งกาแฟและขนมไว้ รับรองร้านของเราจะกลายเป็นสาขาของสตาร์บั๊คส์โดยปริยาย แต่อันนี้เราไม่ต้องประกาศบอกไปมากเพราะเดี๋ยวลูกค้าจะเข้ามาชนกัน อดหมดเลย แต่ข้อพึงระวังอย่าปล่อยให้นั่งนานจนเราเสียลูกค้าไป หรือถ้านั่งนานก็จัดนำเสนอขนมหรือน้ำอื่นๆเข้าไปกดดัน ไม่ใช่เหมือนเคเอฟซีหรือแม็คที่ซื้อโค้กแก้วเดียวสอนพิเศษได้สองชั่วโมง

โปรสุดท้ายที่ขอนำเสนอ ไว-ไฟ ในร้าน อันนี้จะคล้ายๆร้านใหญ่ๆทั่วไปแต่พวกนั้นคือซื้อกาแฟแล้วขอพาสเวิร์ดใช้อินเตอร์เน็ต แต่ผมไม่เช่นนั้น ผมจะนำเสนอคือมุมสำหรับอินเตอร์เน็ตคือพวกถือโน๊ตบุ๊ค ไอแพดเข้ามาให้ไปโซนนั้น เพราะพวกนี้นั่งนานใช้งานนานไม่ยั้ง เราปล่อยเขาเล่นไป เพื่อกันบริเวณอื่นๆให้ลูกค้าคนอื่นได้ใช้ ส่วนเรื่องไว-ไฟ โซนนั้น ผมแนะนำมาว่าไปหาป้ายภาพกาแฟ ขนมของร้านมาตกแต่งเพื่อยั่วยวนดีกว่า เชื่อผมเถอะ 50% จะต้องยอมซื้อกาแฟเราบ้าง ไม่กินน้ำก็ต้องกันขนมอย่างแน่นอน อย่าน้อยยังไงเราก็เสียค่าอินเตอร์เน็ตอยู่แล้ว ก็ยอมให้คนที่มึนใช้ฟรีก็ได้ แต่อย่างน้อยร้านกาแฟเราก็ได้ชื่อว่ามีไว-ไฟให้บริการนะครับ



นี่เป็นตัวอย่างเล็กๆน้อยของการวิเคราะห์การใช้ 4Ps มาประยุกต์เข้ากับร้านกาแฟของคุณ หวังว่าที่เขียนมาจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านบ้างไม่มากก็น้อย ผมไม่ใช่คอกาแฟชั้นยอด แต่ผมก็เป็นนักกินชั้นเยี่ยมเหมือนกัน พรุ่งนี้เรื่องใหม่ ผมไม่แน่ใจว่าจะเขียนเกี่ยวกับ e-Marketing หรือกลยุทธ์โอทอปดี แต่ยังไงอย่าลืมติดตามกันนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น