วันเสาร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2555

3G Thailand: ฝ่าปัจจุบันมองกลยุทธฺ์ 3 ค่ายมือถือ

กลับมาอีกครั้งนะครับ หลังจากห่างหายไปนานพอควร แต่ไม่ได้ไปไหนไกลหรอก เพียงแต่เหนื่อยล้ากับงานประจำ ทำให้หมดแรงในการเขียนทั้งๆที่ก็มีเรื่องมากมาย ทั้งเรื่อง AEC เรื่องเกี่ยวกับธุรกิจปี 2012 เรื่องของทิศทาง SMEfriend แต่อะไรก็ไม่มาแรงเท่ากับเรื่องโทรคมนาคมในตอนนี้ ซึ่งมีการใช้กลยุทธ์มากมายอย่างรุนแรง โดยอดีตอันดับสามก็ประกาศลั่นขอขึ้นอันดับสอง โดยที่อันดับสองนั้นก็เสียท่ากับหลายเหตุการณ์ จน ณ บัดนี้หลาคนหมดความเชื่อถือแล้ว


สถานการณ์ 3G ปัจจุบัน
หลังจากที่คณะกรรมการกสทช.ได้รับการแต่งตั้งขึ้นมาแล้วเกือบ 6 เดือน แต่ก็ยังไม่เห็นผลงานอะไรเลยเกี่ยวกับกิจการโทรคมนาคม หรือไม่แน่ก็อย่างที่วงในสื่อหรือวงการออนไลน์แซวกันมาส่งคนไม่เชี่ยวชาญ (ส่วนใหญ่เป็นทหาร อ้างว่าเพื่อความมั่นคง หรือมั่งคั่งของใครไม่รู้) มาเป็นคณะกรรมการทำให้การเริ่มประมูล 3G นั้นล่วงเลยมานาน (ทั้งๆที่ตอนนั้นมีแค่กทช.จัดงานประมูลอย่างดีกลับถูกยกเลิกโดยคำสั่งสาร) หลายๆค่ายก็หาทางออกโดยการทำ 3G บนเครือข่ายเดิม (800 และ 900) โดยที่ dtac และ ais เริ่มนำร่องจากต่างจังหวัดก่อน แล้ว truemove ก็ตามมาติดๆ ทำให้จากอดีตจนถึงปัจจุบันนั้นความคืบหน้าของ 3G ในไทยนั้นแทบจะโตแบบก้าวกระโดด รวมถึงการมาแรงของสมาร์ทโฟนอย่าง iPhone4 หรือการลุกตลาดแท็บเลตอย่าง Samsung ทำให้ผู้บริโภคหันมาใช้สมาร์ทโฟนมากขึ้น ซึ่ง Gadget พวกนี้นั้นจะมีประสิทธิภาพมากที่สุดก็ต้องเชื่อมต่อสัญญาณ internet ทั้งแบบ EDGE และ WiFi ตลอดเวลา ทำให้ทุกค่ายหันมาเร่งกระจายสัญญาณ 3G กันทั่วบ้านทั่วเมือง


ใครทำอะไร ค่ายไหนมาแรง
เริ่มต้นจากค่ายใหญ่อย่าง AIS ที่โปรโมชั่นของสมาร์ทโฟนอาจจะราคาแพงไม่โดนใจมากนัก แต่เน้นสัญญาณของตัวเองที่ไม่ต้องพูดถึงคุณภาพนั้นคับแก้วอยู่ ได้ฤกษ์กระจาย 3G ในกทม.และหัวจังหวัดทางภาคต่างๆ โดยในปัจจุบันนั้นได้ให้บริการ 3G แบบเติมเงินด้วย ถูกใจคนรายได้น้อย ช่วยกระตุ้นลูกค้าแบบเติมเงินกลับมาหาอีก นี่ยังไม่รวมถึงการจับมือกับ 3BB ของจัสมิน ร่วมขยายเครือข่ายสัญญาณ WiFi ทั่วทุกภูมิภาคในทุกๆจังหวัด เพราะเดิมจริงๆแล้ว 3BB เปิดบริการอินเตอร์เน็ตทั้งแบบมีสายและไร้สายตามต่างจังหวัด ซึ่งได้รับการแบ่งลูกค้ามาจาก TT&T อีกที แต่กระแส WiFi ในต่างจังหวัดนั้นไม่เปรี้ยงมากนัก เลยทำให้ตัดสินใจร่วมกับ AIS สร้าง Synergy เพื่อเอาไว้สู้กับค่ายอื่นๆอีกทาง นี่ยังไม่รวมการรีแบรนด์เปลี่ยนโลโก้ด้วย
ลำดับต่อมาค่ายที่สร้างความฮือฮาไม่น้อยอย่าง Truemove ที่แอบไปซื้อกิจการที่ใลก้ตายอย่าง Hutch มาเป็นของตนและแต่งตัวใหม่ร่วมทุนกับ CAT สร้าง Truemove H ขึ้นมาเปิดตัวฮือฮาอย่างมากโดยเน้นบริการ 3G ล้วนๆโดยโฆษณาใหญ่โตว่าของตนสามารถใช้ได้ทุกๆอำเภอเมืองของแต่ละจังหวัด รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวดังๆทั่วประเทศทั้งภูกะดึงและเขาใหญ่ เป็นต้น โดยจริงๆแล้วถ้าสืบไปสืบมาจะพบว่าจริงๆแล้วการซื้อ Hutch ของ Truemove นั้นก็คือการสร้าง 3G บน CDMA นั้นเอง ซึ่งกลายเป็นว่าลูกค้าที่เปลี่ยนจากทรูมูฟ เป็น ทรูมูฟ เอช นั้นจะต้องกลับไปใช้แบบ CDMA อีกครั้ง ทำให้บางครั้งเมื่ออยู่นอกอาณาเขตก็จะขึ้น "No Service" ใช้ได้แต่สัญญาณมือถือแต่ 3G นั้นใช้ไม่ได้ และ EDGE ก็ไม่มีด้วย อ้าว!!! ซวยล่ะสิ ใช่ครับ ผมบอกไว้เลยว่าถ้าใครจะเปลี่ยนเป็น Truemove H ขอให้คิดหน้าคิดหลังก่อน เพราะอย่างน้อยถ้าเป็นทรูมูฟแบบธรรมดา ไม่มีสัญญาณ 3G ก็ยังเล่น EDGE ได้ ลองคิดความเป็นไปได้เอาเองนะ แต่ ณ ตอนนี้ใครจะเข้ามาเป็นลูกค้าทาง Truemove ก็บังคับให้ไปใช้ H แทนเพราะจะได้เพิ่มลูกค้าขึ้นตามเงื่อนไขด้วย สรุปคือ ถ้าใครยังไม่รู้ Truemove H ไม่ใช่บริษัทลูกของ Truemove และใช้โปรฯร่วมกันไม่ได้ด้วย


มาถึงค่ายสุดท้ายอย่าง dtac ที่สงครามนี้ถือว่าพ่ายแพ้อย่างราบคราบ เพราะหลังเหตุการณ์สัญญาณหายทั้งที่กทม.และภาคใต้จนต้องลดค่ามือถือให้สองวันที่สัญญาณหายไป รวมถึงการนิ่งสงบเรื่อง 3G ที่เปิดตัวแต่กทม.และชลบุรีบางส่วนแล้วก็เงียบไปเลย แต่กลับไปเน้น WiFi ในกทม.แทนแต่ก็ดันทะลึ่งให้ใส่พาสเวิร์ดอีก ทำให้ลูกค้าส่ายหัวเป็นแถว ย้ายค่ายหนีกันให้วุ่น แต่ dtac ก็ยังนิ่ง ไม่รู้เหมือนกันว่าตั้งแต่เปลี่ยน CEO มา นโยบายเลยเปลี่ยนตามหรือเปล่า รวมถึงมองแล้วบริษัทแม่อาจจะถอนหุ้นย้ายกลับบ้าน ทำให้เกิด Aftershock ซึ่งปรากฏการณ์นิ่งสงบนั้นมีมาตั้งแต่การเปิดตัวงาน 3G ที่ทะเลาะกับลูกค้าในการจองซื้อ iPhone ครึ่งราคามาแล้ว แต่ก็ไม่เข็ด และทุกวันยังไม่เข็ด dtac เองก็ไม่ได้ตอบโต้อะไรมากนอกจากส่งจดหมายขอโทษของ CEO ทางอีเมลมาให้ลูกค้า ซึ่งมันไม่ใช่เลยสำหรับสังคมไทย


สรปุได้ตอนนี้เลยถ้าใครสนใจ 3G โดยตรงก็แนะนำ AIS เท่านั้นเลยที่พร้อมกว่าชาวบ้านเขา โดย Truemove H นั้นได้แค่หวือหวาฉาบฉวยเท่านั้น


พบกันใหม่ครั้งหน้านะครับ

วันเสาร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2555

AEC: ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2015 กับการคมนาคม ภาค 2

กลับมาอีกแล้วตามกระแสของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC (Asian Economic Committee) หลังจากเขียนไปถึงความเป็นไปได้ในการเป็นฮับของอาเซียนด้านการบิน ซึ่งก็จะมีผลต่อระบบโลจิสติกทั้งระบบของประเทศ เช่น ทางบก (รถยนต์และรถไฟ) ทางน้ำ (ท่าเรือน้ำลึก) ซึ่งวันนี้จะมาพูดถึงแนวเส้นทางที่มีผลต่อการค้าและธุรกิจได้รับผลกระทบทั้งทางบกและทางน้ำ เอาล่ะ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาไปมากกว่านี้ เรามาเริ่มต้นกันเลยดีกว่า


การคมนาคมทางบก (ทางรถยนต์) ในอนาคต
แน่นอนว่าหลังจากการเป็นฮับของการบินแล้ว เส้นทางการขนส่งและการเดินทางที่ถือว่าสำคัญมากที่สุดคือ ทางบก ด้วยรถยนต์ เนื่องจากสนามบินสุวรรณภูมินั้นมีการเชื่อมต่อได้โดยตรงคือทางรถยนต์ โดยมีถนนสองเส้นหลักขนาดใหญ่ที่ผ่านสนามบินฯโดยตรงคือ
     ทางด่วนหมายเลข 7 กรุงเทพ-ชลบุรี ซึ่งสามารถเชื่อมต่อไปถึงสัตหีบ (ชลบุรี) และส่วนต่อไปทางบางปะอินต่อพหลโยธินซึ่งไปได้ทุกทิศทางและสายเอเซียขึ้นเหนือถึงสามเหลี่ยมทองคำ (เชียงราย) ซึ่งถือว่าเป็นเส้นเลือดหรือถนนหลักในปัจจุบันที่ใช้ขนส่งกันอยู่ ซึ่งยังสามารถต่อขยายไปถึงนครราชสีมาหากว่าโครงการมอเตอร์เวย์สายใหม่เสร็จ
     ทางหลวงหมายเลข 9 บางนา-ชลบุรี ซึ่งจะเชื่อมต่อทั้งท่าเรือคลองเตยและท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งมีความสำคัญในการขนส่งทางน้ำ รวมถึงต่อขยายไปบางพลี-สุขสวัสดิ์ออกภาคใต้ของไทยได้


จากความสำคัญของสองทางด่วนที่เชื่อมต่อสนามบินสุวรรณภูมิจะทำให้เห็นถึงเส้นทางการเดินทางขนส่งทางบกที่สามารถโยงใยไปทั่วประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นจุดแข็งของประเทศไทยในด้านการขนส่งภายในประเทศ


ในส่วนของการขนส่งภายนอกประเทศ ตอนนี้จะเห็นได้ตามข่าวหน้าหนังสือพิมพ์ได้ว่าประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าจะพม่า กัมพูชาและลาวล้วนได้รับเงินสนับสนุนด้านการคมนาคมเชื่อมต่อกับไทย เช่น พม่าและลาวได้รับเงินทุนมาลงทุนเส้นทาง ไทย-พม่า-จีน และไทย-ลาว-จีน ซึ่งตอนนี้จีนนั้นได้มองไว้ว่าทั้งพม่าและลาวนั้นเป็นทางผ่านชั้นดีเพื่อนำสินค้าและวัตถุดิบออกทางประเทศไทย เพราะถ้าหวังพึ่งการส่งออกทางทะเลฝั่งตะวันออกคงไม่เพียงพอ เพราะบางจังหวัดในจีนมีระยะทางห่างจากเซินเจิ้นมาก แต่ถ้าสามารถย่นระยะทางผ่านมาอ่าวไทยได้ก็จะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นรวดเร็วมากขึ้น นี่ยังไม่รวมถึงการเปิดท่าเรือน้ำลึกของพม่าด้านมหาสมุทรทีอินเดีย ซึ่งพี่จีนเขาก็ให้เงินลงทุนมาเหมือนกัน


การคมนาคมทางน้ำ (ท่าเรือน้ำลึก) ในอนาคต
ในส่วนของการขนส่งทางเรือนั้น ประเทศไทยมีท่าเรือที่สำคัญสองที่คือ ท่าเรือคลองเตยและท่าเรือแหลมฉบัง ที่สามารถรองรับการขนส่งทางเรือได้มากทั้งนำเข้าและส่งออก แต่ ณ ปัจจุบันคลองเตยนั้นแออัดมากแล้วและพบกับปัญหาสุดฮิตคือรถติดมาก ดังนั้น ณ ตอนนี้จะเหลือแค่แหลมฉบังเพียงอย่างเดียวที่จะต้องพบกับศึกหนัก ทั้งปริมาณการขนส่งที่มากขึ้น ซึ่ง ณ ตอนนี้การเดินรถไฟรางคู่ก็เริ่มทำมาสักสองสามปีแล้วแต่ก็ไม่ทำให้แหลมฉบังมีศักยภาพเพียงพอ เพราะเนื่องจากว่าหากต้องนำสินค้าไปส่งประเทศยุโรปหรือแอฟริกาก็จะต้องอ้อมไปทางอินโดนีเซียซึ่งถือว่าไกลมาก และอีกอย่างพม่าก็มีท่าเรือทวายมารองรับแล้ว ซึ่งทำให้ประเทศไทยนั้นต้องเมียงมองหาแหล่งใหม่ที่เป็นท่าเรือน้ำลึก และที่น่าจะเป็นไปได้ก็คือบริเวณพื้นที่ท่าเรือจังหวัดระนองฝั่งอันดามัน ที่ตอนนี้มีหลายกระแสมากที่สนับสนุนให้พัฒนาเป็นท่าเรือขนาดใหญ่ รวมถึงอภิมหาโปรเจ็คท์ที่ใครคิดก็ผิดแล้วอย่างการขุดคอคอดกระบริเวณจังหวัดประจวบฯ ซึ่งมีการศึกษาในหลายๆด้านทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจ รวมถึงด้านความมั่นคงซึ่งส่วนใหญ่โครงการนี้ถูกพับลงเนื่องจากสาเหตุอย่างหลังมากที่สุด ซึ่ง ณ ตอนนี้เราอาจจะต้องหันมาดูบ้างก็ได้ เพราะจะทำให้เราเป็นท่าเรืออันดับหนึ่งแซงสิงคโปร์ทันที สร้างความเจริญและงานมากขึ้นหลานแสนอัตรา


จากข้างต้นก็พอจะมองเห็นภาพเครือข่ายการขนส่งภายในประเทศและเชื่อมต่อออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งภาคธุรกิจที่อยู่ในแนวเส้นทางต่างๆที่เอ่ยมาก็จะพบกับผลพลอยได้จากการเปิดเสรีอาเซียนครั้งนี้


ติดตามตอนต่อของ AEC ได้ที่นี่ที่เดียว SMEfriend

วันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2555

AEC: ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2015 กับการคมนาคม

กลับมาอีกครั้งกับบทความ หลังจากได้เดินทางไปเยี่ยมชมงาน BOI Fair 2011 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี (ขยายเวลาจนถึง 22 มกราคมนี้) รวมถึงกระแสข่าวที่เกี่ยวข้องกับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ก็เลยวกกลับมาเขียนถึงเพื่อให้หลายๆคนมองภาพเห็นได้ชัดเจนขึ้น ซึ่งวันนี้จะมาเน้นพูดถึงเรื่องการคมนาคมและขนส่งเป็นหลัง เนื่องจากว่าประเทศไทยได้รับบทเป็นเจ้าภาพในด้านการเดินทางทางอากาศหรือเป็นฮับ (Hub) ด้านท่าอากาศยาน ซึ่งจะส่งผลให้ไทยเป็นศูนย์กลางของการเดินทางและขนส่งของภูมิภาคอาเซียน


ทำไมต้องประเทศไทย
เรื่องนี้สามารถอธิบายได้ง่ายๆเลยว่า ประเทศไทยถือว่าเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน เช่นเดียวกับมาเลเซียหรือสิงคโปร์ เมื่อมองจากภาพแผนที่ก็จะเห็นได้ว่าไทยนั้นอยู่กลางของอาเซียน แต่มาเลเซียและสิงคโปร์นั้นมีข้อจำกัดด้านเนื้อที่ของประเทศ ทำให้ประเทศไทยได้เปรียบมาก รวมถึงระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ถนน รถไฟ สนามบินและท่าเรือนั้นมีกระจายอยู่ทุกๆภูมิภาคสามารถเชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้านรอบๆได้ เช่น
สนามบินสุวรรณภูมิ จะเป็นฮับขนาดใหญ่ จากปริมาณผู้โดยสารปี 54 ที่ผ่านมามากกว่า 40 ล้านคน โดยมีโครงการต่อขยายอาคารผู้โดยสารขาเข้าเพิ่มเติมอีก 2 เฟส ซึ่งคาดว่าไม่เกินสามปีก็คงได้เห็น โดยสุวรรณภูมินั้นเชื่อมต่อสนามบินต่างๆทั้ง 4 ภูมิภาคได้ เช่น
- สนามบินเชียงใหม่ เป็นสนามบินนานาชาติที่สามารถเชื่อมต่อถึงพม่าและลาว รวมถึงออกไปจีนได้
- สนามบินภูเก็ต เป็นสนามบินนานาชาติเช่นกัน สามารถเชื่อมต่อไปยังมาเลเซียและสิงคโปร์ทางรถยนต์ได้
- สนามบินอุบลราชธานี จะเป็นสนามบินที่สำคัญในอนาคตในการเดินทางเชื่อมต่อกับกัมพูชา ลาวใต้และเวียดนาม


สำหรับเส้นทางการเดินทางด้วยรถยนต์นั้นประเทศไทยถือว่ามีความได้เปรียบทั้งปริมาณการรองรับรถและความสะดวกสบาย มีถนนและทางด่วนไปได้ทุกภาค รวมถึงเร็วๆนี้จะมีการเปิดใช้มอเตอร์เวย์สายใหม่จากบางปะอินไปนครราชสีมาและอนาคตจะเป็นส่วนต่อขยายไปถึงขอนแก่นและหนองคายด้วย ซึ่งก็จะรองรับการค้าจากลาวซึ่งเป็นการลำเลียงสินค้ามาจากจีนอีกด้วย


ท่าเรือ เป็นอีกหนึ่งเมกะโปรเจ็คท์ที่ตอนนี้กำลังเฟื่องมาก ทั้งท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง (Eastern Seaboard) รวมถึงท่าเรือน้ำลึกจังหวัดระนอง (Western Seaboard) ที่เตรียมก่อสร้างรองรับการแข่งขันกับท่าเรือน้ำลึกทวายของพม่าด้วย


อะไรต้องปรับปรุง
สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ประเทศไทยต้องเร่งปรับตัวคือการเดินทางด้วยรถไฟ โดยปัจจุบันต้องยอมรับว่ารถไฟไทยนั้นล้าหลังมากพอๆกับอินเดียหรือกัมพูชา และยังเดินหน้าขาดทุน (ปกติก็ขาดทุนอยู่แล้วเจอรถไฟฟรียิ่งขาดทุนเข้าไปอีก) ซึ่งเร็วๆนี้เป็นนิมิตหมายอันดีที่ประเทศจีนจะมาร่วมลงทุนรถไฟความเร็วสูง ( 220-260 กม.ต่อชม.) เพื่อต่อการคมนาคมจากจีนผ่านพม่าแล้วมาไทยเพื่อออกอ่าวไทย ซึ่งก็หวังว่าไม่น่าเกิน 10 ปีข้างหน้า เราคงไปเที่ยวเชียงใหม่ ขอนแก่น สุราษฎ์โดยใช้เวลาประมาณ 2-3 ชม.


ในด้านการขนส่งทางระบบรางนั้น ณ ปัจจุบันภาครัฐมาเน้นการใช้รถไฟรางคู่มากขึ้น โดยเป็นเส้นทางจากกรุงเทพฯไปภาคตะวันออก เพื่อขนส่งออกทางเรือที่แหลมฉบัง แต่ถือว่ายังไม่เพียงพอและล่าช้าเนื่องจากรูปแบบของรถไฟที่ยังเป็นแบบเดิมเมื่อ 40 ปี


แต่จริงๆแล้วเราเดินมาถูกทางแล้วในเรื่องของแอร์พอร์ตลิงค์ เชื่อมต่อพญาไทกับสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งสามารถเช็คอินสายการบินได้ตั้งแต่ต้นทาง โหลดกระเป๋าได้ทันทีหรือมาทำที่สนามบินตามปกติก็ได้ เพียงแต่ว่าเราขาดการประชาสัมพันธ์ที่ดี ต้องยอมรับว่าคนไทยไม่นิยมขนส่งมวลชนเท่าไหร่ ชอบนั่งรถยนต์หรูไปสนามบิน ผิดกับชาวต่างชาติที่มาเที่ยวแล้วจำเป็นต้องใช้ระบบขนส่งมวลชน จึงต้องหันมาเน้นนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น


วันนี้ก็ขอเกริ่นคร่าวๆของการคมนาคมขนส่งในประเทศไทยก่อน ครั้งหน้ามาดูรายละเอียดว่าเราจะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เอื้อการคมนาคมเพื่อรองรับ AEC อย่างไร ติดตามกันนะครับ

วันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2555

HRM และ HRD: ทำความรู้จัก HR ให้ดีขึ้น

กลับมาอีกครั้ง หลังจากหายไปสองสามวัน วันนี้มาเริ่มกันเลยดีกว่า บทความวันนี้มีแรงบันดาลใจจากการไปเดินที่พาวิลเลี่ยนของ Panasonic ในงาน BOI Fair แล้วเขาก็พูดถึงอดีตประธานบริษัทที่มีวิสัยทัศน์ในการสร้างคนก่อนถึงค่อยสร้างงาน ทั้งการสร้างศูนย์อบรมพนักงานขายและผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของพนักงานก่อนทำงานจริง จึงกลับมาเขียนบทความที่เกี่ยวกับ HR (Human Resource) หรือทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งนานๆทีจะได้เขียน แต่สัญญาเลยว่าจะเน้นเรื่องพวกนี้มากขึ้น เพราะยังไงแล้ว "คน" ย่อมสำคัญที่สุดในองค์กร


วันนี้ขออธิบายถึงเนื้อในจริงๆของคำว่า "ทรัพยากรมนุษย์" หรือ Human Resource (HR) เพราะหลายๆองค์กรโดยเฉพาะองค์กรธุรกิจระดับท้องถิ่นชุมชนนั้นมักมองข้ามไป


HR คืออะไร
HR หรือ Human Resource "ทรัพยากรมนุษย์" ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าคือ "ทรัพยากร" เป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญขององค์กร เพราะเป็นทรัพยากรที่ดำเนินขับเคลื่อนองค์กรให้เดินต่อไปได้ ทรัพยากรในองค์กรไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบ น้ำ ไฟฟ้า เครื่องใช้สำนักงาน นั้นถือว่าเป็นทรัพยากรที่เราสามารถใช้เงินซื้อมาได้ แต่ทรัพยากรมนุษย์หรือพนักงาน (ไม่ว่าจะระดับใด) นั้นถือว่าสำคัญมาก ไม่สามารถใช้เงินซื้อมาได้ (เงินเดือนไม่สามารถซื้อทุกอย่างได้) ดังนั้นองค์กรจะต้องให้ความสำคัญกับคนหรือพนักงานมาก ซึ่งองค์กรขนาดใหญ่ระดับประเทศนั้นได้ให้ความสำคัญของคนมากขึ้่น ไม่ใช่มาทำงานได้เงินเดือนแล้วกลับบ้าน แต่จะต้องสร้างให้เกิดความจงรักภักดีต่อองค์กรด้วย จึงจะถือว่าคนนั้นเป็นมนุษย์ไม่ใช่หุ่นยนต์ ซึ่งยังมีอยู่หลายๆองค์กรที่เห็นว่าพนักงานเป็นแค่คนที่มาทำงานให้แล้วจ่ายเงินเดือนไป โดยไม่คิดจะพัฒนา สร้างความมั่นคงให้กับพนักงาน ซึ่งผลที่จะกลับมาคือพนักงานขาดความจงรักภักดีต่อองค์กร


HR ประกอบด้วยอะไร


จริงๆแล้ว HR หรือ ทรัพยากรมนุษย์ นั้นจะแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ
1. Human Resource Management, HRM หรือการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการสรรหาบุคากรเข้าองค์ การคัดเลือกบุคลากร การประเมินผลการทำงาน หรือจะเป็นพวกขาด ลา มาสายหรือการลาออก (Turn Over) ซึ่งก็จะเป็นเรื่องที่องค์กรต่างๆนั้นมีอยู่แล้ว
2. Human Resource Development, HRD หรือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาบุคลการที่มีอยู่ในองค์กรให้มีศักยภาพที่ดีขึ้น โดยเน้นไปที่การพัฒนาในระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้นจะเป็นเรื่องของการอบรม (Training) เป็นหลักเพื่อเพิ่มความรู้ของพนักงานที่มีอยู่ให้ดีขึ้น ในส่วนของการพัฒนาระยะยาวก็คือ การส่งเสริมด้านการศึกษา (ส่งเรียนต่อเฉพาะด้านที่เกี่ยวกับธุรกิจ) หรือการส่งเสริมการทำวิจัยในองค์กร การสร้างองค์ความรู้ (Knowledge Management) การพัฒนาเส้นทางอาชีพ (Career Path) เป็นต้น


ในทั้งส่วนของ HRM และ HRD นั้นหลายๆองค์กรนั้นได้มีการปฏิบัติอยู่แล้ว เพียงแต่อาจไม่รู้ หรือไม่ได้เน้นมากเท่าที่ควรเพราะมัวแต่เน้นการผลิต ผลิตให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ วิธีการผลิตใดที่จะให้ได้ผลลัพธ์มากที่สุดก็จะใช้เม็ดเงินเข้ามาลงทุนมาก โดยหารู้ไม่ว่าการลงทุนกับคนนั้นการให้ผลลัพธ์สูงเหมือนกันแต่ใช้เงินลงทุนน้อยกว่าด้วยซ้ำ


ครั้งหน้ากับมาพบกับ HRD แบบง่ายๆ ติดตามกันนะครับ

วันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2555

4 Noble Truths in Business: ดำเนินธุรกิจด้วยอริยสัจ 4

ห่างหายไปนานพอควรกับบทความ เนื่องจากเกิดการ Error ของการเข้าใช้ Blogger ทำให้ไม่สามารถโพสต์อะไรต่อมิอะไรได้ (บางครั้งเล่นเอาซะเครื่องค้าง) โดยในเบื้องต้นอาจจะเป็นการ Error ของ Google Chrome เลยขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย เอาล่ะเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา ขอเริ่มเลยล่ะกัน


หัวข้อบทความวันนี้เป็นเรื่องที่อยากเขียนมานานแล้ว แต่กลัวเขียนไปเขียนมาแล้วจบไม่ลง แต่ยังไงวันนี้ต้องตัดใจเขียนแล้วพยายามจบให้ลงให้ได้ ซึ่งวันนี้ก็ขอพูดถึงเรื่องการดำเนินธุรกิจตามหลักพระพุทธศาสนาด้วยหลักอริยสัจ 4 หรือ "ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ" (4 Noble Truths)


อริยสัจ 4 คืออะไร?
อริยสัจ 4 หรือแปลว่าความจริงที่แท้ มีอยู่ 4 ประการ ได้แก่ 
1. ทุกข์ คือ การทนต่อสภาพเดิมไม่ได้
2. สมุทัย คือ สาเหตุของการเกิดทุกข์
3. นิโรธ คือ การทำให้ทุกข์หมดไป
4. มรรค คือ หนทางหรือวิธีการทำให้ทุกข์หมดไป โดยมีทั้งหมด 8 วิธี

  • สัมมาทิฏฐิ คือ เห็นถูกตามความเป็นจริงด้วยปัญญา
  • สัมมาสังกัปปะ คือ การใช้สมองความคิดพิจารณาแต่ในทางความดี
  • สัมมาวาจา คือ การพูดสนทนา แต่ในสิ่งที่สร้างสรรค์ที่ดี
  • สัมมากัมมันตะ คือ การประพฤติดีงาม ทางกายหรือกิจกรรมทางกาย
  • สัมมาอาชีวะ คือ การทำมาหากินอย่างสุจริต
  • สัมมาวายามะ คือ ความพยายาม
  • สัมมาสติ คือ การรู้ตัวอยู่เป็นปกติ
  • สัมมาสมาธิ คือ การฝึกจิตให้สงบ

สรุปได้ง่ายๆคือ "ทุกข์เป็นผลของสมุทัย"

แล้วมันเกี่ยวอะไรกับธุรกิจ ?
จริงๆแล้วหลักอริยสัจ 4 นั้นก็จะคล้ายคลึงกับการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์คือ ตัวแปรต้น (เหตุ = สมุทัย) >>> ตัวแปรตาม (ผล = ทุกข์) >>> การตั้งสมมติฐาน (= มรรค) >>> การทดลอง (= นิโรธ)

ซึ่งในการดำเนินธุรกิจไม่ว่าจะประเภทไหน รูปแบบใด จะขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ก็แล้วแต่จะต้องพบพานกับปัญหานานาประการ 
ยกตัวอย่าง เช่น ณ ปัจจุบันธุรกิจการขนส่งกำลังเดือดร้อนกับนโยบาบพลังงานที่จะทำการขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวี (NGV) ให้เท่ากับราคาตลาดโลก ซึ่งปตท.ในฐานะผู้ค้าเองก็ประกาศว่าตนเองขาดทุนในการอุ้มราคาก๊าซอยู่หลายหมื่นล้าน และไม่สามารถอุ้มได้อีกต่อไปจึงต้องขึ้นราคา ทำให้ผู้ประกอบการขนส่งทั้งแท็กซี่ รถเมล์ร่วมและรถบรรทุกพากันไปปิดถนนวิภาวดี ซึ่งก็ไปเบียดเบียนประชานชนที่ไม่ได้รู้เรื่องอะไรด้วย ซึ่งถือว่าแก้ไขได้ไม่ถูกวิธี ดังนั้นเหตุการณ์ดังกล่าวสามารถเอาหลักอริยสัจ 4 ไปใช้ได้

ทุกข์ = ต้นทุนการขนส่งสูงขึ้น (ผล)
สมุทัย = รัฐประกาศขึ้นราคาเอ็นจีวีและแอลพีจี (เหตุ)

แล้วเหล่าผู้ประกอบการดังกล่าวจะทำดำเนินธุรกิจกับการเปลี่ยนนโยบายของรัฐ (นิโรธ) ด้วยวิธีใด (มรรค) ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการแต่ละรายจะนำไปใช้

บทความนี้อ่านไปอาจจะงงๆนะครับ แต่ก็อยากให้ดำเนินธุรกิจด้วยหลักที่เป็นเหตุเป็นผลไม่ใช่สะเปะสะปะไปเรื่อย อย่างเช่น บางธุรกิจเกิดปัญหาจากน้ำท่วมที่ผ่านมา ก็ไปแก้ไขด้วยการหาซินแสมาปรับฮวงจุ้ย เสียเงินเสียทองไปเปล่า ลองกลับมาตั้งสติแล้วลองใช้หลักอริยสัจ 4 ที่เราเรียนกันมาตอนเด็กๆมาปะยุกต์ใช้ดู

สุดท้ายนี้ ขอประชาสัมพันธ์ว่าเร็วๆนี้จะมีรูปแบบบทความแบบใหม่มาให้อ่านกัน ต้องติดตามดูแล้วกันนะครับ

วันศุกร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2555

IMC: สื่อสารการตลาดในท้องถิ่นและทั่วถึง

กลับมาอีกแล้ว ต้องขออภัยจริงที่เมื่อวานบอกว่าจะมีบทความและไม่ได้มีเนื่องจากกลับมาจากการประชุม (ขับรถ 400 กม.) ก็ไม่มีแรงเลยทั้งๆที่มีอะไรในหัวสมองเยอะมาก เรามาเริ่มเลยดีกว่า วันนี้จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการตลาดอีกแล้ว (ว่าจะเพลาๆบ้าง) แต่มันอดไม่ได้จริงเพราะขับรถไปมาทุกวันได้เห็นเหล่าผู้ประกอบการในท้องถิ่นนั้นใช้การสื่อสารต่อลูกค้า ซึ่งก็มีผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้างจึงนำมาเป็นไอเดียวันนี้


วันนี้ขอเสนอเรื่อง IMC (Integrated Marketing Communication) หรือภาษาทางการก็คือ "การสื่อสารการตลาดแบบผสมผสาน" ซึ่งเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของนักการตลาดในการริเริ่มผลิตสื่ออะไรก็ได้ที่สามารถส่งผลให้ผูับริโภคหรือลูกค้าได้รับรู้


มารู้จักการสื่อสาร...
การสื่อสาร ชื่อก็บอกอยู่แล้วต้องมี
1) สื่อ คือช่องทางการหรื่อวิธีการที่จะนำอะไรบางอย่างจากผู้ประกอบการ ผู้ผลิตออกสู่สายตาลูกค้า เช่น โบรชัวร์โฆษณา เว็บไซต์ หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ฯลฯ
2) สาร ก็คือข้อความ ภาพ เสียงที่เราต้องการจะบอกคนทั้งโลกหรือประเทศให้รับรู้ 
3) คน เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของการสื่อสารก็คือ คนรับ หรือ Receiver นั่นเองเพราะถ้าเราสื่อออกไปแล้วไม่มีผู้รับก็เท่ากับการสื่อสารนั้นใช้ไม่ได้ผล


จากด้านบนเราก็ทราบองค์ประกอบของการสื่อสารแล้ว ดังนั้นการสื่อสารที่ดีและมีคุณภาพจะต้องขึ้นอยู่กับสามปัจจัยเช่นกัน คือ ช่องทางหรือรูปแบบของสื่อ ข้อความหรือข้อมูล และสุดท้ายคือผู้รับ


รู้จัก IMC ภายในสองนาที
IMC หรือการตลาดแบบผสมผสานนั้นแบ่งออกเป็น 5 รูปแบบด้วยกัน
1. การโฆษณา (Advertising) จะเป็นพวกสื่อสารโฆษณาทั่วๆไปที่เราได้เห็นไม่ว่าจะเป็นทางโทรทัศน์ วิทยุ ป้ายคัทเอาต์ เว็บไซต์หรือแม้กระทั่งสังคมออนไลน์ เช่น Fan page ของ Facebook หรือ Google+ หรือTwitter หรือแม้กระทั่ง Blog ต่างก็ใช่เหมือนกัน


2. การขายโดยพนักงานขาย (Personal Selling) ก็จะเป็นพวกพนักงานขายตามร้าน บูธหรือเดินขายตามบ้านทั่วไป แม้กระทั่งเซลล์ขายของก็ใช่ เพราะการพูดประชาสัมพันธ์บอกต่อให้ลูกค้าก็ถือเป็นการสื่อสารประเภทหนึ่งเหมือนกันแต่ต้องใช้ต้นทุนมากพอสมควรในการจ้างพนักงานขาย หรือแม้กระทั่งการขายบนเว็บไซต์ เช่น ebay ก็ถือว่าเป็นพนักงานขายเพียงแต่ไม่ได้เป็นมนุษย์เท่านั้น


3. การส่งเสริมการขาย (Sale Promotion) การใช้โปรโมชั่นหรือการเปิดตัวสินค้าผ่าน Event ต่างๆก็ถือว่าเป็นการสื่อสารแบบหนึ่ง ซึ่ง ณ ปัจจบันได้รับความนิยมมากแต่ก็จะมีเรื่องต้นทุนตามมาเหมือนกัน


4. การให้ข่าวและประชามสัมพันธ์ (Public Relation, PR) ก็นำเสนอข่าวในโทรทัศน์ หนังสื่อพิมพ์ นิตยาสารต่างๆก็ถือว่าเป็นการสื่อสารแบบหนึ่ง เพียงแต่การสื่อสารรูปแบบนี้จะนิยมสำหรับการเปิดตัวสินค้า โปรโมชั่นในช่วงต้น เพราะจะให้ผลสัมฤทธิ์สูงมาก เนื่องจากสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย


5. การตลาดทางตรง (Direct Marketing) เช่น การส่งโบรชัวร์สินค้า การส่งสินค้าตัวอย่างไปยัีงลูกค้า เป็นรูปแบบหนึ่งที่มีมานานแต่ไม่ค่อยจะได้ผลเนื่องจากต้องใช้ต้นทุนมาก ดังนั้นผู้ประกอบการปัจจุบันจะเน้นเป็นการส่งให้เฉพาะกลุ่มหรือสมาชิกสินค้าเท่านั้น


ทั้งหมดที่ยกตัวอย่างมาก็คือรูปแบบการสื่อสารทางการตลาดในปัจจุบัน ซึ่ง ณ ตอนนี้ก็เริ่มมีรูปแบบหลากหลายเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป เช่น การทำโฆษณาแบบ Application บนมือถือสมาร์ทโฟน การพัฒนาหนังสือหรือโบรชัวร์แบบ e-Book ซึ่งถือว่าสามารถเข้าถึงผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มได้เป็นอย่างดี


สุดท้ายอย่าลืมสิ่งสำคัญของการสื่อสารไม่ว่าจะรูปแบบไหน ไฮโซหรูหราเพียงใด ถ้าขาดองค์ประกอบทั้ง 3 ข้อไป ช่องทางหรือรูปแบบของสื่อ ข้อความหรือข้อมูล และสุดท้ายคือผู้รับ การสื่อสารก็ถือว่าไม่ได้ผล


ติดตามข่าวสารและบทความดีแบบนี้ได้อีกเรื่อยๆ หรืออยากทราบข่าวคราวแวดวงธุรกิจท้องถิ่น ก็ลองเข้าไปที่ www.facebook.com/beSMEfriend

วันอังคารที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2555

Knowledge Management KM: บริหารความรู้ในองค์กร

สวัสดีหลังปีใหม่ 2555 หรือ 2012 ชาว SMEfriend และทุกๆท่าน วันนี้กลับมามีเวลาปั่นบทความอีกแล้ว หลายๆคนบอกว่าเขียนแต่เรื่องการตลาด (Marketing) ไม่เห็นเขียนเกี่ยวกับเรื่องการบริหารองค์กรบ้างเลย วันนี้ก็เลยจัดเรื่องที่อาจจะดูเก่าแต่หลายๆองค์กรนั้นทำไม่ได้ก็คือเรื่อง KM Knowledge Management หรือ "การบริหารความรู้ในองค์กร" ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆกับภาคธุรกิจไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่

KM คืออะไร
KM หรือการบริหารความรู้ฯ นั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการรวบรวมความรู้ในองค์กรที่กระจัดกระจายไม่ว่าจะอยู่กับตัวบุคคลหรือเอกสารหนังสือต่างๆเอามาจัดเป็นหมวดหมู่รวบรวมไว้และเผยแพร่ให้กับทุกคนในองค์กรได้สามารถเข้ามาหาความรู้ได้
โดยปกติแล้วความรู้ในองค์กรจะถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ
1) ส่วนที่เป็นตัวอักษร (Explicit Knowledge) คือเป็นความรู้ที่เป็นตัวอักษรไม่ว่าจะอยู่ในหนังสือ คู่มือต่างๆ
2) ส่วนที่จับต้องไม่ได้ (Tacit Knowledge) ความรู้ประเภทนี้จะอยู่ในตัวบุคคลไม่ว่าจะเป็นใครในองค์กรก็แล้วแต่ พูดง่ายๆก็คือประสบการณ์ของบุคคลนั่นเอง

ความสำคัญของ KM
จุดมุ่งหมายที่สำคัญของ KM นั่นก็คือการเผยแพร่ให้คนในองค์กรหรือภายนอกองค์กรได้รับทราบและเข้าถึงได้นั่นถือว่าเป็นประโยชน์สูงสุด ปัญหาขององค์กรในปัจจุบันก็คือการสมองไหลออกนอกองค์กร เช่น

นาย ก. เป็นวิศวกรออกแบบเครื่องจักรที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญมากที่สุดในองค์กร โดยมีนาย ข. เป็นวิศวกรระดับรองลงมา วันหนึ่งนาย ก. มาเรียกร้องขอเงินเดือนเพิ่ม เนื่องจากบริษัทคู่แข่งได้มาซื้อตัวไป ซึ่งทางฝ่ายบุคคลไม่มีนโยบายต่อรองเงินเดือน ทำให้บริษัทต้องสูญเสียมือดีและความรู้ที่อยู่กับนาย ก.ไป
ในกรณีนี้ KM สามารถแก้ปัญหาให้องค์กรได้คือ การให้พนักงานทุกคนนั้นรวบรวมความรู้และประสบการณ์การทำงานแล้วบันทึกลงเป็นลายลักษณ์อักษรในรูปแบบของตำรา คู่มือแล้วถูกบันทึกไว้เป็นหนังสือหรือไฟล์คอมพิวเตอร์หรือฐานข้อมูลก็แล้วแต่ หากเกิดการลาออกของพนักงาน ก็จะทำให้พนักงานที่เหลืออยู่สามารถอ่านและศึกษานำมาใช้ในงานต่อไปได้ อย่างเช่นกรณีตัวอย่างทางบริษัทอาจจะให้นาย ข.มาดูแลงานแทนนาย ก.ได้ทันที ไม่ต้องเสียเวลาปั้นคนใหม่ขึ้นมา และยังลดต้นทุนพนักงานลงด้วย
นี่ก็เป็นเพียงตัวอย่างง่ายๆที่พอให้เห็นภาพของการทำ KM

เพื่อให้เห็นภาพของ KM ได้ชัดขึ้น ผมก็มีไฟล์ presentation ได้เคยทำไว้ตอนเรียนป.โทอยู่มาให้ได้อ่านกัน ลองอ่านกันดูนะครับ