วันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2554

Maslow's Needs in Product Design: ออกแบบสินค้าสนอง Needs!!! ภาคต่อ

ออกแบบสินค้าสนอง Needs!!! (ภาคต่อ)

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาได้เกริ่นนำถึงทฤษฎีของมาสโลว์เกี่ยวกับลำดับความต้องการของคนเพื่อนำมาใช้ในการออกแบบ ซึ่งผมขอเท้าความกันสักนิด
1. ลำดับแรก "ขอให้ได้เงินเดือนมีข้าวกินก็พอแล้ว" กลุ่มลูกค้าจะเป็นวัยทำงานแรงงานที่มีรายได้ต่อเดือนไม่มาก หรือเรียกว่ากลุ่มตลาดระดับล่าง

2. ลำดับสอง "ทำงานมีเงินเก็บออมสำหรับอนาคต" กลุ่มนี้จะเป็นพวกวัยทำงานที่เริ่มมีเงินเก็บมากขึ้น รายได้ต่เดือนสูง สามารถเริ่มฟุ่มเฟือยในการใช้จ่ายได้

3. ลำดับสาม "การได้รับความไว้วางใจจากเจ้านายในการทำงานใหญ่" กลุ่มลูกค้านี้จะเป็นระดับผู้บริหารระดับต้นในองค์กร เริ่มมีอำนาจและเริ่มใช้จ่ายในเรื่องที่ไม่จำเป็นมากขึ้น

4. ลำดับสี่ "การได้รับเลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้น การได้รับรางวัลพนักงานดีเด่น หรือการได้รับความภูมิใจ (Proud) จากสังคม" ลูกค้ากลุ่มนี้จะเป็นผู้บริหารระดับสูง คือมีเงินมากพอที่จะใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายมากขึ้น เริ่มให้ความสำคัญกับของประดับหรืออุปกรณ์ที่ส่งเสริมให้ตนเองดูแตกต่างจากบุคคลทั่วไป

5. ลำดับสุดท้าย "ได้เป็นตามความฝันของตนเอง" กลุ่มนี้จะเป็นระดับเจ้าของธุรกิจ อะไรที่เขานิยมหรืออินเทรนด์ก็จะพลาดไม่ได้ ซื้อของสนองตัณหาเต็มที่

เมื่อเรารู้พฤติกรรมความต้องการของแต่ละลำดับแล้ว ต่อมาคือกลุ่มเป้าหมายของสินค้าหรือบริการของเรา ในการทำธุรกิจไม่ว่าจะอะไรก็แล้วแต่เราต้องทำการกำหนดกลุ่มตัวอย่างของเราไว้เสมอ ไม่ว่าจะเรื่องอายุ เพศ อาชีพ พฤติกรรมต่างๆ เงินเดือน ฯลฯ ซึ่งขอให้มีกลุ่มเป้าหมายอย่างชัดเจน

หลังจากนั้นมาดูในเรื่องการออกแบบสินค้าและบริการ โดยขอแบ่งออกเป็น 2 องค์ประกอบได้แก่
1. Function หรือการใช้งาน จะเกี่ยวข้องกับการใช้สอย ประโยชน์สนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย
2. Fashion หรือการออกแบบให้ดึงดูดผู้ซื้อ

จากลำดับของความต้องการและการออกแบบสามารถจำมาผนวกเข้ากันได้โดยแยกตามลำดับดังนี้
1. ลำดับแรก "ขอให้ได้เงินเดือนมีข้าวกินก็พอแล้ว" ในการออกแบบสินค้าหรือบริการของกลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้จะเน้นการใช้งานเป็นหลักคือซื้อแล้วใช้ได้ตามความต้องการก็พอ ไม่เน้นการบรรจุ (Packaging) ที่สวยงามมาก เพราะไม่ได้เอามาเพื่อแสดงฐานะของตนอยู่แล้ว ดังนั้นควรเน้น function ไม่เน้น fashion

2. ลำดับสอง "ทำงานมีเงินเก็บออมสำหรับอนาคต" ในการออกแบบสินค้าและบริการจะเริ่มเน้นการแสดงฐานะของผู้ใช้มากขึ้นแต่การใช้งานยังเป็นประเด็นหลัก เพราะยังไงก็ยังเป็นมนุษย์เงินเดือน การใช้จ่ายก็ยังมีความสมเหตุสมผล คือควรเริ่ม fashion มากขึ้นแต่ยังเน้น function

3. ลำดับสาม "การได้รับความไว้วางใจจากเจ้านายในการทำงานใหญ่" สินค้าหรือบริการจะต้องเน้นแสดงระดับฐานะตามเงินเดือนมากขึ้น เพราะเริ่มมีฐานะทางสัมคมมากขึ้น และมีต้นทุนในการใช้จ่ายมากขึ้นตาม โดยเริ่มใช้จ่ายแบบฟุ่มเฟือยมากขึ้น บางครั้งลืมเรื่องการใช้งานไปเลยก็มี การออกแบบควรเน้น fashion สูงกว่า function แต่ก็ไม่ควรมากเกินไป

4. ลำดับสี่ "การได้รับเลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้น การได้รับรางวัลพนักงานดีเด่น หรือการได้รับความภูมิใจ (Proud) จากสังคม" ความต้องการของคนกลุ่มนี้ไม่มีอะไรมากไปกว่าการได้รับความยอมรับจากสังคมและพวกพ้อง ซึ่งการออกแบบนั้นจะต้องเน้นการบรรจุ (Packaging) การตกแต่ง วัสดุทีเป็นพรีเมียม ซึ่งสินค้าและบริการต้องเน้น fashion มากเป็นพิเศษ โดยลด function ลงมา

5. ลำดับสุดท้าย "ได้เป็นตามความฝันของตนเอง" การออกแบบสินค้าหรือบริการของกลุ่มลูกค้าประเภทนี้ไม่ยากเลย เน้น fashion ให้มากที่สุดเท่าที่จะมาได้ บางครั้งอาจไม่ต้องสนใจ function เลยก็ได้ เหมือนที่เคยพูดกันว่า "รวยอย่างเดียวไม่ได้ ต้องโง่ด้วย"

หวังว่าการเอาลำดับความต้องการของมาสโลว์มาประยุกต์กับการออกแบบสินค้าหรือบริการนั้นจะช่วยให้ผู้ประกอบการนำไปประยุกต์ใช้ได้ไม่มากก็น้อยนะครับ ติดตามบทความในครั้งต่อไปได้เรื่อยๆ สวัสดีครับ

วันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2554

Maslow's Needs in Product Design: ออกแบบสินค้าสนอง Needs!!!

ออกแบบสินค้าสนอง Needs!!!


วันนี้ก่อนเข้าเรื่องก็ขอแสดงความเสียใจให้ให้กำลังใจกับผู้ประสบภัยน้ำท่วมทุกคน ถึงแม้ผมเองไม่ได้รับโดยตรงแต่ก็รับผลโดยอ้อมคือในเรื่องการขาดแคลนสิ่งของอุปปโภคและบริโภค ซึ่งผมเองนั้นก็ได้เสนอการป้องกันน้ำท่วมและความรู้ที่เกี่ยวข้องในเฟซบุ๊คของผมเองไปบ้างแล้ว และที่สำคัญคือปริมาณน้ำที่มีมากเกินที่จินตนาการถึง จึงขอให้เชื่อฟังภาครัฐเพื่อให้ชีวิตปลอดภัย ทางที่ดีที่สุดผมแนะนำให้ผู้พักในกรุงเทพอพยพออกจากต่างจังหวัดที่ปลอดภัยและไม่ไกลมากเพราะพื้นที่กทม.นั้นลำบากในการให้ความช่วยเหลือ เพื่อเป็นการให้เจ้าหน้าที่ได้ง่ายต่อการทำงาน ใครที่มีกำลังทรัพย์ก็ขอแนะนำให้อพยพจะดีกว่า

เข้าเรื่องของวันนี้เลยดีกว่า ผมบอกตรงๆเลยว่านั่งคิดอยู่ว่าจะเขียนอะไรดีเกี่ยวกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ เพราะก่อนหน้านั้นผมกำลังนั่งออกแบบโบรชัวร์ของ SMEfriend อันใหม่สำหรับพิมพ์แจกและลงประกาศทางหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ซึ่งแค่โฆษณาอันเล็กๆอันเดียวก็เอาผมปวดสมองได้เหมือนกัน เพราะมัวแต่คิดว่าจะออกแบบยังไงให้ตรงและโดนใจผู้เห็นให้มาก เพราะธุรกิจ SMEfriend นั้นเกี่ยวข้องกับไอทีก็ต้องออกแบบให้ทันสมัยแต่ก็ไม่มากจนผู้ประกอบการท้องถิ่นอ่านแล้วงง สุดท้ายก็มีคำว่า "Needs" หรือ "ความต้องการพื้นฐาน" ขึ้นมาในสมอง ก็เลยนึกถึงหลักลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ หรือ Maslow's Hierarchical Theory ขึ้นมาทันทีเพราะมันเกี่ยวกับการสนอง Needs ของคน โดยเมื่ออธิบายเป็นข้อๆจะพบว่าลำดับขั้นของมาสโลว์ประกอบไปด้วย

ขั้นแรกสุด ความต้องการของร่างกาย อธิบายง่ายๆคือความต้องการด้านปัจจัย 4 ได้แก่ ที่อยู่อาศัย อาหาร เครื่องนุ่งห่มและยารักษาโรค ถ้าเปรียบเสมือนมนุษย์เงินเดือนก็คือ "ขอให้ได้เงินเดือนมีข้าวกินก็พอแล้ว" (จำตรงนี้ไว้ห้ไดี)

ขั้นที่สอง คือความต้องการด้านความปลอดภัยหรือความมั่งคง ได้แก่ ความมั่งคงทางการเงิน ควาดปลอดภัยด้านสุขภาพ (ในอนาคต) ความมั่นคงทางสังคม การเมือง ถ้าเปรียบกับมนุษย์เงินเดือนก็คือ "ทำงานมีเงินเก็บออมสำหรับอนาคต" (ตีกรอบ กาดาวไว้ก่อนเลย)

ขั้นที่สาม คือการได้รับความรักจากบุคคลรอบข้าง ได้แก่ การเป็นที่รักของครอบครัว เพื่อนฝูง และเพื่อนที่ทำงาน เจ้านาย เปรียบเสมือนการได้รับความไว้วางใจจากเจ้านายในการทำงานใหญ่ (จำไว้ๆ)

ขั้นที่สี่ คือความต้องการทางสังคม อธิบายง่ายๆคือการได้รับการยอมรับทางสังคมและได้รับความรักความนิยมชมชอบจากผู้อื่น อันนี้ถ้าเปรียบได้ก็เหมือนกับ "การได้รับเลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้น การได้รับรางวัลพนักงานดีเด่น หรือการได้รับความภูมิใจ (Proud) จากสังคม" (จำไว้นะ)

ขั้นสุดท้าย เป็นขั้นสูงสุดของความต้องการคือ ความต้องการในสิ่งที่ตัวเองปรารถนา หรือเป็นในสิ่งที่อยากเป็น เช่น ทำงานต้องการเป็นหัวหน้างาน ทำงาานแล้วลาออกมาทำธุรกิจส่วนตัว ทำงานประจำแล้วมีอาชีพเสริมเป็นนักแข่งรถ อันนี้ถือเป็นขั้นสูงสุดซึ่งเป็นสิ่งที่ใครๆก็อยากได้ หรือพูดง่ายๆคือ "ได้เป็นตามความฝันของตนเอง" (จำไว้นะ)

วันนี้ขอเกริ่นเรื่องของความต้องการแต่ละลำดับก่อน พรุ่งนี้จะเข้าเรื่องการนำความต้องการเหล่านี้มาออกแบบสินค้าหรือบริการเพื่อสนอง Needs ของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

วันพุธที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2554

Flooding Crisis: โอกาสและวิกฤตจากน้ำท่วม

สวัสดีชาว SMEs และ SMEfriend หลังจากห่างหายจากบทความไปนาน เนื่องจากตอนนี้กำลังขะมักเขม้นกับเว็บไซต์ของ SMEfriend ที่อยากจะเปิดตัวภายในปีนี้ เลยไม่มีเวลามาเขียน ซึ่งผมบอกไว้เลยว่าไม่ต้องกลัวไม่มีอะไรอ่าน เพราะสิ่งที่อยากแชร์นั้นเต็มหัวไปหมด เพียงแต่ไม่มีแรงจะเขียนเท่านั้น แต่ยังไงก็จะพยายามจะเขียนให้ได้มากที่สุดนะครับ

วันนี้ขอเริ่มด้วยความห่วงใยต่อผู้ประสบภัยทั้งบุคคลที่หาเช้ากินค่ำ เจ้าของธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ณ ตอนนี้ ยังไงถ้าน้ำลดก็ขอให้กลับมาต่อสู้กันต่อนะครับ ผมยังเอาใจช่วย ส่วนใครอยากจะมีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง ตอนนี้เราก็มีโปรโมชั่นพิเศษสำหรับฤดูหนาวและธุรกิจที่ประสบภัยคือ เพียง 2,000 บาทก็มีเว็บไซต์ได้แล้ว ส่วนจะยังไงก็ลองติดต่อสอบถามเข้ามาดูทางเบอร์โทรศัพท์ของ SMEfriend หรือทาง Facebook

ส่วนตอนนี้เรามาว่าเนื้อความของวันนี้เลยดีกว่า อย่างที่รู้กันหลายๆนิคมขนาดใหญ่ของภาคกลาง ทั้งโรจนะ นวนคร ไฮเทคและอีกหลายๆที่นั้นได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในระดับที่สูงจนต้องหยุดการผลิตปิดโรงงานกันไป จน ณ ตอนนี้เริ่มมีผลกระทบกับภาคประชาชนกันบ้างแล้ว ในเรื่องของสินค้าบริโภค เช่น น้ำดื่ม อาหารแช่แข็ง ซึ่งลองไปดูตามซุปเปอร์มาร์เกตหรือ 7-11 ก็จะพบว่าของหมดสต๊อกไปมาก นี่ไม่รวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีผลต่อ GDP ของประเทศมาก รวมถึงภาคขนส่งที่ไม่สามารถขนส่งไปไหนได้ เนื่องจากถนนสายหลักของรถบรรทุกขนาดใหญ่ทั้งพหลโยธินและสายเอเชียได้รับความเสียหายอย่างหนัก บางที่ผลิตสินค้าไม่ได้ บางที่ผลิตได้ขายออกไม่ได้ ซึ่งก็ต้องดูว่าปริมาณน้ำที่อยู่ข้างบนอยุธยาจนหมดไปเมื่อไหร่ ซึ่งต้องบอก ณ ตอนนี้เลยว่า ไม่ต่ำกว่า 2 เดือน

ซึ่งจากวิกฤตการณ์นี้จะพบว่ายังมีหลายสินค้า หลายบริษัทนั้นรอดพ้นจากน้ำท่วมและพลิกสถานการณ์กลับมาได้ทันที ผมขอยกตัวอย่างเช่น

บริษัท นมเมจิ ที่มีฐานการผลิตอยู่อำเภอหนองแค ตำบลหินกอง สระบุรี ที่ไม่ได้มีผลกระทบด้านน้ำท่วมเลย ยกเว้นบ้างในด้านวัตถุดิบคือน้ำนม (ซึ่งสระบุรีก็นมเยอะอยู่มาก จึงไม่กระเทือนเท่าไหร่) โดย ณ ตอนนี้พูดได้เลยว่าเหลือโรงงานไม่กี่โรงที่สามารถผลิตนมและนมเปรี้ยวได้ ซึ่งทำให้ตอนนี้นมเมจินั้นกลายเป็นนมติดเชลฟ์ของร้านสะดวกซื้อและห้างต่างๆไปแล้ว ซึ่งผมเองก็เดาได้ตอนนี้เมจิสั่งเดินเต็มพิกัด เพราะทั้งดัชมิลล์ (น้ำท่วมนครปฐมแล้ว) และยาคูลท์ (น้ำท่วมหลักสี่) รวมถึงบีทาเก้นก็งดส่งของแล้ว ทำให้ยอดของนมเมจินั้นพุ่งกระฉุดแน่ ถ้าเป็นอย่างนั้นต้องยอมรับว่าผู้บริหารของเมจิมีวิสัยทัศน์และสติตลอดเวลา ไม่ตกใจและพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ซึ่งข้อดีของโรงงานนมเมจินั้นคือสามารถขนส่งไปยังพื้นที่ต่างๆในภูมิภาคอื่นๆได้ เพราะยังใช้เส้นทางถนนมิตรภาพ สายเหนือเก่าและตะวันออกในการส่งนมไปขายได้นับว่ายังได้เปรียบคู่แข่งที่ได้รับผลกระทบอยู่มาก

วันนี้ก็ขอยกตัวอย่างเบาะมาให้อ่านพอหายคิดถึงนะครับ
ซึ่งบทสรุปของบทความนี้คือ การมีสติและวิสัยทัศน์มองอนาคตและเหตุการณ์ออกของผู้บริหาร ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของการมีภาวะผู้นำ (Leadership)

วันพุธที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2554

SMEfriend: แจ้งข่าวการเพิ่มเติมบริการ

วันนี้ขออัพเดทข่าวคราวของ SMEfriend ก่อน โดยผมขอแบ่งเป็นข้อๆไปนะครับ


1. SMEfriend ปรับเปลี่ยนโลโก้นิดหน่อย เพื่อเข้ากับภาพลักษณ์ของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับไอที จึงทำให้ดูโมเดิร์นมากขึ้น


2. บริการสร้างเว็บไซต์แบบง่าย สามารถใช้งานได้เต็มรูปแบบไม่แพ้เว็บทั่วไป แต่ราคาแสนถูก เพียงจ่ายปีแรก 2,000 บาท ปีต่อไปจ่ายแค่ 500 บาท รวมถึงโปรโมชั่นดูแลเว็บด้วย เหมาะกับธุรกิจขนาดเล็กที่เพิ่งเริ่มต้นการทำตลาดออนไลน์ รายละเอียดเพิ่มเติมลองคลิกไปที่แท็บ "รูปแบบบริการและราคา"


3. เพิ่มโปรโมชั่นใหม่ จากเดิมที่มีโปรโมชั่นเว็บ+เฟซบุ๊ค 9,999 บาท ตอนนี้ก็ขอเพิ่มโปรโมชั่นอีก 2 ตัวคือ เว็บแบบง่าย+เฟซบุ๊ค ซึ่งรายละเอียดเพิ่มเติมลองคลิกไปที่แท็บ "รูปแบบบริการและราคา"


นี่ก็เป็นการปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมบริการของ SMEfriend โดยมีผลตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป หวังว่าบริการของเราจะโดนใจชาว SMEs ทุกคนนะครับ

วันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ทำไมต้องมีเว็บไซต์

ทำไมต้องมีเว็บไซต์ ???

เป็นคำถามที่หลายๆคนที่เป็นเจ้าของธุรกิจถามตัวเองบ่อย ซึ่งคำถามต่อๆมาจะถามว่า
"มีแล้วเป็นไง ธุรกิจจะดีขึ้นมั้ย ???"
"ถ้ามีแล้วดี แต่ทำยังไงจะมี ???"
"แล้วใครล่ะจะมาทำให้เรา ???"
ฯลฯ

ซึ่งวันนี้ผมจะเขียนถึงการที่ผู้ประกอบการธุรกิจจะเตรียมความพร้อมในการเริ่มเมียงมองการมีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง โดยแบ่งตามหลัก 6W2H (ช่วงนี้ให้ทฤษฎีนี้บ่อย อย่าเพิ่งเบื่อกันนะครับ)

What
ทำอะไร ข้อนี้เป็นข้อแรกเลยที่เราจะต้องรู้ตัวเองวาเราทำธุรกิจอะไร เรามีสินค้าและบริการอะไรบ้างที่จะนำเสนอบนหน้าเว็บ ซึ่งรายละเอียดที่จะแสดงก็จะต้องเป็นข้อมูลที่ต้องมีประโยชน์ต่อคนที่เข้ามาเว็บเราด้วย เช่น สเปกสินค้า การแสดงการเปรียบเทียบ ราคา (อันนี้เป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนมาก บางคนชอบการที่เจ้าของบอกราคาผ่านเว็บ เจ้าของบางคนก็ไม่ชอบบอก นานาจิตตัง) ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะอยู่ในส่วนของเมนู "Product" ของเว็บไซต์

Who
เราคือใคร ถ้าใครเข้าเว็บไซต์พวกธุรกิจบ่อยๆจะพบเมนูบาร์ "About Us" หรือการบ่งบอกตัวเราว่าเราคือใคร เรามาจากไหน เราจะไปทางไหน ก่อร่างสร้างตัวมากี่ปีแล้ว ซึ่งข้อมูลพวกนี้จะเป็นข้อมูลที่สำคัญที่จะเป็นเครื่องยืนยันความน่าเชื่อถือของธุรกิจ เพราะถ้าเป็นลูกค้าใหม่ เขาก็จะเข้ามาดูกำพืดของธุรกิจของคุณก่อนที่จะตกลงซื้อสินค้าก่อนแน่นอน

Where
ที่ไหน อันนี้เป็นการแสดงที่ตั้งของธุรกิจเรา ซึ่งจะไปอยู่ใน "Map" หรือ "Contact Us" ซึ่งหมายถึงที่ตั้งของสำนักงาน ร้านตัวแทนขาย โรงงานผลิต รวมถึงที่ตั้งบนเว็บไซต์ ซึ่งการที่เราอธิบายถึงที่ตั้งของธุรกิจให้ละเอียดพอ ก็จะทำให้ลูกค้าสามารถติดต่อเราได้ง่ายขึ้น

When
ขายเมื่อไหร่ อันนี้ก็จะเป็นข้อมูลสำหรับให้ลูกค้าได้ติดต่อเรา ว่าเราเปิดทำการเมื่อไหร่ ปิดร้านหรือโรงงานกี่โมง หรือเรามีการบริการ 24 ชม.หรือไม่ Call Center มีบ้างมั้ย ถือว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญ

Whom
ใครคือลูกค้า ประเด็นนี้จะไม่ได้อยู่ในเว็บไซต์โดยตรง แต่จะไปแฝงอยู่ตามรูปแบบของเว็บ การออกแบบเว็บ การนำเสนอผ่านเว็บไซต์ ถ้าลูกค้าเป็นกลุ่มวัยทำงาน หน้าตาเว็บก็จะต้องทำให้ดูน่าเชื่อถือ ส่วนถ้ากลุ่มวัยรุ่นก็ต้องมี feature มากๆคอยกระตุ้นความสนใจตลอดเวลา

Why
ทำไมต้องซื้อ อันนี้เป็นประเด็นสำคัญ เราต้องมีข้อมูลที่จะนำเสนอชักชวนคนที่เข้ามาอ่านข้อมูลและการคิดสร้างสโลแกนของสินค้าหรือธุรกิจ ต้องสั้นๆง่ายๆ อ่านแล้วซื้อเลย หรือไม่ก็นำเสนอความน่าเชื่อถือและคุณภาพการบริการก็ได้

How
อยากมีทำยังไง ตอบง่ายๆคือ 1) ทำเอง ศึกษาอ่านหนังสือทำเว็บเอง หาโปรแกรมสำเร็จรูปมาทำเอง ซึ่งต้องใช้เวลา 2) จ้างเขาทำ แต่ก็มีหลายแบบ คือทำแล้วทิ้ง (คล้ายๆผู้ชายสมัยนี้) หรือทำแล้วดูแล ซึ่งก็ต้องหาข้อมูลผู้ให้บริการกันไป

How Much
ราคาแพงป่ะ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะคนส่วนใหญ่ิคิดว่าทำเว็บไซต์ราคาค่อนข้างสูง (ก็แพงจริงๆ) แต่จริงๆแล้วพวกนั้นคือพวกเว็บไซต์ไฮโซ ใช้แฟลชเขียนทั้งเว็บ ซึ่งบางครั้งเราไม่ต้องขนาดนั้นก็ได้ เพราะโหลดนาน ลองเมียงมองหารูปแบบเว็บไซต์ง่ายๆ เน้นฟังก์ชั่นไม่เน้นแฟชั่น เน้นรูปแบบการสื่อสาร แค่นี้ก็ทำให้ลูกค้าสนใจได้เหมือนกัน

นี่ก็เป็นแนวคิดง่ายๆสำหรับคนที่เริ่มอยากมีเว็บ ถ้าใครมีข้อสงสัยเพิ่มเติมก็ลองถามมาได้ผ่าน Facebook หรือโพสต์คำถามไว้

วันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2554

น้ำท่วม อ่วมอรทัย หรือเปล่า???

ช่วงนี้ไปทางไหนก็เจอน้ำท่วม ถือว่าปีนี้นั้นฝนไม่ได้ตกมากมายเหมือนปีที่แล้ว แต่มันจะเป็นเรื่องของการบริหารจัดการน้ำมากกว่า เพราะหลายๆจังหวัดที่เคยท่วมหนักปีนี้ก็ไม่ท่วม หรือที่ไหนไม่เคยท่วมก็ท่วม ท่วมสูงเป็นประวัติการณ์บ้าง ซึ่งผมไม่ขอเอ่ยถึงแล้วกัน แต่เรามาพูดเรื่องผลกระทบของธุรกิจกันดีกว่า ว่าถ้ามันเกิดขึ้นแล้วธุรกิจจะตั้งรับและรุกกลับอย่างไรบ้าง

1. What เราต้องมาดูตัวเองก่อนว่าเราทำธุรกิจอะไร แล้วน้ำท่วมนี่มีผลกระทบต่อธุรกิจเราหรือไม่ เช่น ถ้าเราทำธุรกิจขนส่ง เราย่อมโดนผลกระทบเรื่องต้นทุนการขนส่งแน่นอน เนื่องจากต้องเปลี่ยนเส้นทางเดินรถใหม่ซึ่งอาจทำให้ต้องขนส่งไกลจากเดิม หรือเราทำธุรกิจผลิตสินค้าก็ต้องดูว่าโรงงานที่ตั้งมีแนวโน้มน้ำจะท่วมหรือไม่ ถ้ามีจะตั้งรับอย่างไร ต้องปิดโรงงานหรือไม่ แล้วคนงานจะทำอย่างไร ถ้าเป็นธุรกิจออนไลน์เราก็สบายใจหน่อย ขอให้มีอินเตอร์เน็ตใช้ก็สบายใจได้ อันนี้ก็ต้องดูเป็นรายๆไป

2. Where การตั้งของธุรกิจเราอยู่ไหน ถ้าตั้งอยู่ที่สูงก็เตรียมการตั้งรับไม่เหนื่อย ถ้าโรงงานหรือบริษัทตั้งอยู่ที่ราบ ก็ต้องตรวจเช็คว่าโอกาสน้ำจะผ่านมาเมื่อไหร่ จะต้องเตรียมการป้องกันอย่างไร ในส่วนธุรกิจออนไลน์ก็สบายไป เพราะจะอยู่ที่ไหนก็ได้ ขอแค่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ตอย่างที่บอก

3. When น้ำจะท่วมมาหาเราเมื่อไหร่ เราจะส่งหรือผลิตสินค้าทันออเดอร์ที่สั่งมาหรือไม่ ถ้าไม่ทันจะแก้ปัญหาอย่างไร จะขนส่งทันมั้ย ถ้าไม่ทันต้องจ่ายค่าปรับหรือไม่ หรือโทรไปขอเลื่อนได้มั้ย ลองพิจารณาแต่ละธุรกิจดู

4. Who อันนี้ผมอยากให้ลองมองกลับมาดูตัวเราเองว่า การที่น้ำท่วมนั้นมีผลกับเป้าหมายของเราอย่างไรบ้าง ถ้าไม่ก็ดำเนินธุรกิจต่อไป แต่ถ้าโชคร้ายล่ะ เราจะทำอย่างไรให้เราได้กลับมาตามเป้าได้ดังเดิม

5. Whom ลูกค้าของเราเป็นยังไงบ้าง มีฟีดแบ็คกลับมาหาอย่างไร ถ้าเขาถอนออเดอร์ทิ้งไปเพราะผลจากน้ำท่วม เราจะไปหาลูกค้ารายใหม่ที่ไหน ใครล่ะจะมาซื้อของเรา หรือถ้าเราไม่สามารถผลิตสินค้าให้ได้ แล้วจะรักษาฐานเหล่านี้ไว้ได้มั้ย

6. How นี่คือข้อสำคัญของการเผชิญวิกฤติต่างๆ เราจะมีแผนการอย่างไรที่ผ่านวิกฤตินี้ได้ ไม่ใช่แค่น้ำท่วมนะครับ มันรวมถึงปัญหาต่างๆที่จะเข้ามาอีกในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นสึนามิ หรือแม้แต่กระทั่งปัญหาเศรษบกิจโลก

นี่ก็เป็นการวิเคราะห์คร่าวๆโดยใช้หลัก 5W1H มาใช้ในการวิเคราะห์ธุรกิจของเราเพื่อหาทางฟันฝ่าอุปสรรคน้ำท่วมนี้ไปได้

วันนี้พอแค่นี้ก่อนนะครับ พบกับบทความพรุ่งนี้ได้ อย่าลืมติดตามได้

วันพุธที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2554

เราได้อะไรจาก "Let's talk about iPhone"

หัวข้อวันนี้อย่าเพิ่งตกใจนะครับว่าจะเปลี่ยนแนวจากธุรกิจมาเป็นเทคโนโลยี แต่ผมขอเอากระแสมาเขียนสะท้อนแนวคิดขององค์กรใหญ่ๆเค้าคิดกันยังไงในการต่อสู้ทางการตลาด


ก่อนอื่่นผมขอออกตัวเลยว่าผมใช้ iPhone4 และคิดว่ามันคือมือถือที่ฉลาดและดีที่สุดเท่าที่เคยซื้อมา (ไม่ได้อวยกันนะครับ เพราะคิดรอบคอบแล้วก่อนซื้อ) และผมก็ไม่ได้เซียนเรื่องเทคโนโลยีแต่ก็สามารถหาความรู้มาใช้งานได้อย่างเหมาะสม พอดีติดตามมาทั้งคืนกับงาน "Let's talk about iPhone4" เมื่อคืน ก็เลยอยากจะแชร์ความคิดหน่อยแล้วกัน


iPhone4 ก็กลายมีน้อยชายคนใหม่ คือ iPhone4S หรือเป็นมือถือ iPhone รุ่นที่ 5 ของแอปเปิ้ล โดยสิ่งที่เปลี่ยนไปจากเดิมก็เหมือนการ Minor-Change ของค่ายรถยนต์เขาทำกัน เพียงแต่รถชอบเปลี่ยนแค่ชิ้นส่วนตกแต่ง เช่น เพิ่มแม็ก เพิ่มสเกิร์ตข้างอะไรทำนองนี้ แต่สำหรับ iPhone 4S นั้นไม่เหมือนกัน เหมือนอัอั้นกับข่าวลือมานานและทนเสียงกระแนะกระแหนของเหล่า Android ไม่ไหว เลยจัดชุดใหญ่มาเต็มทั้ง Hardware และ Software เช่น Chipset A5 แบบ dual core (จัดเหมือน Galaxy SII) + กล้อง 8MP มีเลนส์ 5 ตัว + เสาสัญญาณใหม่สัญญาณไม่หายเหมือนก่อน + ความละเอียดของ HD 1040p เป็นต้น ในเรื่องของ Software แอปเปิ้ลสร้างนวัตกรรมใหม่กับ SIRI ระบบตอบรับอัตโนมัติในมือถือ (นึกถึง Javis ของ iron man) สามารถโต้ตอบกับเราได้เหมือนผู้ช่วยส่วนตัว + ระบบ Face Detector เวลาถ่ายภาพเหมือนกล้องดิจิตอล + โปรแกรมตัดต่อรูปในตัว + iCloud ศูนย์รวมทุกอย่างของแอปเปิ้ลทั้งเพลง หนังสือ แอพและ ขอภูมิใจเสนอ iOS5 ระบบปฏิบัติการใหม่ที่เหมือน Macbook ของแอปเปิ้ลที่จะทำให้มือถือไม่ใช่มือถือมากขึ้น รายละเอียดลองไปตามคลิปนี้ก็ได้



นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งในด้านเทคนิคของ iPhone 4S ที่เพิ่มเติมปรับปรุงขึ้นมา หลายคนคงผิดหวังเพราะกระแสข่าวลือของ iPhone 5 นั้นแรงมาก ทั้งภาพหลุด ภาพอะไหล่หลุดจากจีน เครื่อง demo หาย สารพัดกันไป สุดท้ายก็ผิดหวังกันไปตามระเบียบ ส่วนตัวผมเองนั้นเฉยๆ เพราะคาดเดาแต่แรกแล้วว่าจะเป็นแค่ Minor-Change เลยไม่ค่อยสนใจอะไร ก็ดีใจกับพวก 64GB และ 8GB ด้วยที่มีมือถือความจุน้อยๆแต่ใช้งานดีๆใช้ ส่วนพวกความจุเยอะก็เหมาะเอาไปถ่ายวิดีโอหรือเล่นเกมส์ไป


จากงานเมื่อคืน ก็พอเอามาวิเคราะห์เกี่ยวกับกลยุทธ์ของ Apple ได้ดังนี้


1. รักษามูลค่าของผลิตภัณฑ์เอาไว้ นั่นเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของการจะรักษาภาพลักษณ์ขององค์กรและสินค้าไว้ อย่างที่บทความก่อนๆที่เคยเขียนถึงมูลค่าหรือ Value ว่ามันแปรเป็นเงินไม่ได้ มันมีค่าทางใจ ในเมื่อไอโฟน4 นั้นขายดีอย่างต่อเนื่องไม่แพ้ไอแพด ทางแอปเปิ้ลเองก็ไม่ต้องไปบ้าบอออกรุ่นใหม่ไป เพราะคนก็เพิ่มใช้มาไม่ถึงปี (เปิดตัวตุลาคมในไทย มิถุนายนที่อเมริกา) ให้คนได้ซึมซับความอัจฉริยะของมือถือก่อนไม่ดีกว่าหรือ เราขายเป็นของ Hi-En จะไปต่อสู้กับข้างล่างทำไม สู้สร้างแบรนด์ให้ลูกค้าตราตรึงไว้ดีกว่า ซึ่งเป็นหลักการตลาดแบบเดียวกับพวกรถซุปเปอร์คาร์ เช่น พอร์ช ลัมโบกินี่ ที่นานๆจะออกรุ่นใหม่ที เพราะรถราคาเป็นสิบๆล้านออกบ่อยๆมันก็เกร่อ แถมลูกค้าระดับบนไม่ชอบด้วย




2. เก็บคำบ่นมาปรับปรุง อย่างที่บอกไป ไอโฟน4 ออกวางขายประมาณพฤษภาคม 53 ส่วน Galaxy S II ก็ตามมาอีกเกือบหนึ่งปี ทำให้สเปกของ Galaxy นั้นนำ iPhone ไปมาก เช่นชิปเซตก็แบบ Dual Core แรมก็เยอะ จอใหญ่ แต่แอปเปิ้ลเองก็ไม่สะทกสะท้าน รอปรับปรุงแข่งกับตัวเองอย่างเงียบ พอเมื่อวานก็จัดสเปกนำหน้า Galaxy S II หนีไปไกลอีก แถมหมัดเด็ดอย่าง SIRI โปรแกรมอัจฉริยะที่จะทำให้ชีวิตเราง่ายเพียงแค่ส่งคำสั่งด้วยเสียง ที่อุตส่าห์ไปซื้อกิจการเขามาก็เอามาใช้ซะเลย เราก็สามารถส่งอีเมลได้แล้ว แค่นี้ iPhone 4S ก็นำคู่แข่งอย่างไม่เห็นฝุ่นแล้ว


3. มั่นคงในนโยบาย เมื่อมีนาคมปีนี้ สตีฟ จ๊อบส์อดีต CEO ของแอปเปิ้ลก็ประกาศไปว่าเป็น "ปีของ iPad" ซึ่งหมายถึงแอปเปิ้ลจะเน้นกลยุทธ์เชิงรุกกับไอแพดมากขึ้นเพื่อก้าวเป็นอันดับอย่างสมบูรณ์ ซึ่งดูยอดขายก็รู้แล้วว่าเป็นยัง ไม่บ้าบอหลงทิศทางไปกับสิ่งยั่วยุ


4. กลุ่มเป้าหมายชัดเจน อย่างที่บอก ลูกค้าส่วนใหญ่ของ iPhone จะเป็นนักธุรกิจหรือกลุ่มระดับบน การไปปรับปรุงออกใหม่ก็ทำให้แบรนด์ตัวเองดร๊อปไป (ลองถามโนเกียดู) ดังนั้นการออก 8GB มาในราคาหมื่นกว่าบาทนั้น ผมมองว่าไม่ได้มาแข่งกับ Galaxy S II อย่างแน่นอน  แต่จะมาขยายกลุ่มเป้าหมายให้ใหญ่ขึ้นต่างหาก เพราะบางคนเน้นการทำงานจริงๆ คือเอาแอพที่จำเป็นใส่เครื่องเท่านั้น เกมส์ไม่ต้อง ดังนั้นก็ไม่ต้องการความจุอะไรที่มากมาย แถมราคาก็ถูกลงยั่วยวนพวกที่ยึกยักซื้อดีไม่ซื้อดีอีกด้วย


5. ไม่ตระหนก จากภาพหลุดต่างๆที่ออกมา แอปเปิ้ลเองก็ไม่ได้แสดงตัวยอมรับ เพียงแต่มองเฉยๆผ่านไปเท่านั้น ดังนั้นชื่องาน "Let's Talk About iPhone" ก็ไม่ได้แปลว่าจะมี iPhone5 เพัยงแต่เราๆท่านๆไปตีความกันเอง



วันนี้ก็หอมปากหอมคอกับกลยุทธ์ของบริษัทยักษ์ใหญ่เขาทำกันนะครับ ไม่แปลกใจว่าแบรนด์แอปเปิ้ลถึงกลายเป็นอันดับหนึ่งในตอนนี้

วันอังคารที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2554

อยากทำธุรกิจ แต่คิดไม่ออก???

ทุกวันนี้ค่าครองชีพของประเทศก็สูงขึ้นทุกปี ไข่ดาวจากราคา 5 บาทเป็น 10 บาท ถ้าคิดง่ายๆเรากินไข่ทุกวัน ก็หมดไป 300 บาทต่อเดือนแล้ว ดังนั้นหลายๆคนที่มีอาชีพเป็นลูกจ้างบริษัทก็ต้องมานั่งทบทวนเงินเดือนตัวเองว่าแต่ล่ะเดือนพอหรือไม่และไม่พอจะทำอย่างไร

หลายๆคนก็มองหาอาชีพเสริมที่ทำหลังเวลาทำงาน เวลาว่างเสาร์อาทิตย์ บางคนลองผิดลองถูก ได้บ้าง เจ๊งบ้าง คละเคล้ากันไป บางคนจับถูกทาง ทำธุรกิจที่เปิดช่องว่างก็รวย รายได้มากกว่าเงินเดือนถือว่าโชคดีไป บางคนหมดไปเยอะ ลงทุนไปแทบหมดตัว สุดท้ายทุนยังแทบไม่เหลือ ลองมาดูกันว่า เราจะเริ่มธุรกิจ เราควรเตรียมตัวยังไงบ้าง

1. สำรวจความสามารถตนเอง ก่อนที่เราจะไปขายอะไรหรือนำเสนออะไรให้ชาวบ้านเขา เราต้องรู้จักตัวเราก่อนว่าเราถนัดและมีความสามารถอะไรบ้าง เช่น บางคนเป็นฝ่ายขาย ก็พอจะมีทักษะการขายบ้างก็อาจจะเปิดร้านจขายของ บางคนถนัดงานช่าง ก็อาจรับจ้างซ่อมแซมตามบ้าน ข้อสำคัญคือ อย่าไปฝืนตัวเอง ถ้าไม่ถนัดก็อย่าไปดันทุรัง เพราะจะเหนื่อยและมีอารมณ์จนหงุดหงิดทำการงานเสียไป เช่น เห็นเพื่อนเปิดร้านเสริมสวย แต่ตัวเองไม่ใช่คนตามแฟชั่น สุดท้ายก็ไปไม่รอด

2. สำรวจต้นทุนตัวเอง เรื่องเงินเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะทุกอย่างเดี๋ยวนี้ก็เป็นเงินเป็นทอง อาจจะลงทุนมาก ลงทุนน้อยก็แล้วแต่ธุรกิจ แต่อย่าให้เดือดร้อนไปถึงเงินเดือนตัวเอง เพราะเผื่อเจ๊งขึ้นมา เราจะแย่เพราะแหล่งเงินสุดท้ายที่จะเลี้ยงชีพก็จะหมดไป ทางที่ดีก็ต้องเริ่มเก็บหอมรอมริบเงินเอง เช่น เราจะเปิดร้านขายไก่ทอด คิดแล้วต้นทุนเริ่ม 10,000 บาท เราก็ควรเก็บเงินส่วนนี้ไปทำธุรกิจ ส่วนรายได้เราก็เอาไปหมุนใช้ เงินกำไรก็เอามาลงทุนต่อ ทางที่ดีหลังจากเรารู้แล้วว่าเราชอบอะไร อยากทำอะไร เราก็มองยังเงินทุนที่ดี ธุรกิจอะไรที่ใช้ต้นทุนน้อยแต่กำไรดี สภาพคล่องสูง ควรมองเป็นอันดับแรก

3. มองโลกภายนอก หมายถึงมองโอกาสทางธุรกิจ อย่าเอาแต่ความมั่นใจของตัวเองมาวัดเข้าข้างตนเอง เราต้องดูด้วยว่าตอนนี้ธุรกิจไหนกำลังมา ธุรกิจไหนกำลังตัน อะไรที่เขาแห่ทำ ก็ลองเลี่ยงๆบ้าง ไปหาหนทางใหม่ ลองหาธุรกิจที่กำลังก่อตัว แต่ยังไม่ตั้งตัว เพราะถ้าเราไปตามเขา เราก็จะมีคู่แข่งมากเป็นเรื่องธรรมดา ยกตัวอย่างเช่น ตอนนี้ร้านกาแฟสดนั้นขึ้นเป็นดอกเห็ด ตรงไหนๆก็มี เราก็อย่าไปตามเขา เรามองให้ไกลกว่านั้น ถ้าเรามีฝีมือด้านพวกนี้ ก็ลองไปเปิดร้านขนมเค้กส่งให้ร้านกาแฟแทน เราก็จะมีคู่ค้ามากขึ้นด้วยแถมไม่มีคู่แข่ง หรือไม่ก็อาจจะไปนำเข้าเม็ดกาแฟเข้ามาขายพวกร้านกาแฟแทน

4. อย่ารอเวลา พวกทำธุรกิจที่รอเวลา สุดท้ายจะไม่ประสบความสำเร็จ เพราะอย่าคิดว่าเราคิดอยู่คนเดียว คนอื่นเขาก็คงมองเห็นช่องทางเหมือนเรา ดังนั้นถ้าคิดอะไรแล้ว มองความเป็นไปได้ ทำแผน ถ้านึกไม่ออกก็ลองทำ PDCA ในส่วนของ P-Plan ก็วางแผนทั้งการผลิต การเงิน การขาย ดูว่าเป็นไปได้ขนาดไหน เช็ค IRR ดูว่าคุ้มค่ามั้ย ถ้าโอเค ก็ลุยเลย

5. ตั้งเป้าให้ตนเอง ก็เหมือนธุรกิจขนาดใหญ่ จะต้องมีการตั้งเป้าหมายของธุรกิจด้วย เราจะได้มีทางเดินให้ไปถึงจุดหมาย เพราะถ้าไม่ตั้งเป้าหมายเราก็จะทำธุรกิจไปเรื่อยๆไม่มีอะไรมากระตุ้น เช่น กำหนดรายได้ในหกเดือน กำไรในหนึ่งเดือน แล้วเอาข้อมูลมาประมวลผลว่า เราควรไปต่อ แล้วไปอย่างไร ไปด้วยวิธีการไหน

นี่ก็เป็น 5 ข้อ ของการเริ่มทำธุรกิจขนาดเล็กๆ หวังว่าจะเอาไปประยุกต์ใช้กันดูนะครับ

วันเสาร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2554

น่านน้ำสีฟ้า บ้านหลังใหม่?

หลังจากเมื่อวานได้เขียนถึงความโหดร้ายในท้องน้ำสีแดง โดยสรุปทิ้งท้ายไว้ว่า ถ้าหากว่าแหล่งเดิมของธุรกิจเป็นโลกที่โหดร้าย เหลือแต่ปลาใหญ่ฟัดกันเอง พวกเราเหล่าปลาน้อยหรือ SME ทั้งหลายก็ควรหันไปหาบ้านใหม่อยู่ดีกว่า ที่ยังสงบร่มเย็นพร้อมให้เราได้เติบโต เพราะขืนอยู่แบบเดิมต่อไป เราแย่แน่

โดยตอนท้ายได้ทิ้งท้ายไว้ว่าการที่เราเปลี่ยนแหล่งธุรกิจหรือกลุ่มตลาดหรือย้ายบ้านใหม่ไปทำอะไรใหม่ที่ยังไม่มีคนทำกันหรือทำกันน้อย ภาษาฝรั่งเขาเรียกว่า Blue Ocean หรือน่านน้ำสีฟ้า นั่นเอง โดยการเปลี่ยนกลุ่มตลาดไปทำธุรกิจใหม่ๆนั้นฟังดูอาจจะยากอยู่ แต่เชื่อผมเถอะถ้าไม่เริ่มตอนนี้ อีกไม่นานก็จะมีคนเข้ามาเหมือนเรา นานไปเรื่อยๆก็จะเปลี่ยนจากสีฟ้าสดใสเป็นสีแดงฉาดเหมือนเดิม ซึ่งเราก็ต้องหนีไปหาอะไรใหม่ๆต่อไป มันเป็นวัฐจักรของธุรกิจไปแล้ว

ผมขอยกตัวอย่างนึงพอให้เห็นภาพดีกว่า ว่าการทำธุรกิจน่านน้ำสีฟ้านั้นเป็นแบบใด


กลยุทธ์การทำธุรกิจในน่านน้ำสีฟ้านั้น ส่วนใหญ่ถ้าลองเปิดอ่านจากตำราภาษาอังกฤษนั้นเขาจะเน้นการสร้างนวัตกรรม (Innovation) งั้นผมจะขอเพิ่มเติมอีกสักสองสามข้อนะครับ


1. สร้างนวัตกรรม นวัตกรรมคือการสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าและบริการที่แตกต่างจากสินค้าทั่วๆไป โดยเป็นการขจัดขีดจำกัดต่างๆของสินค้าออกไป ยกตัวอย่างสินค้านวัตกรรมง่าย ลองเดินไปดูร้านไดโซะ (60 บาททั้งร้าน) จะเห็นสินค้าหลายๆอย่างจากญี่ปุ่นที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น ผงกันงู (ทำได้ยังไงลองซื้อไปใช้ดู) หรือสินค้าที่ในตลาดทั่วๆไปนั้นก็เป็นนวัตกรรม เช่น ร่มขวด (ร่มที่มีปลอกร่มเป็นขวดก็ถือเป็นนวัตกรรม ซึ่งการทำปลอกเป็นขวดนั้นก็คือการกำจัดข้อจำกัดของสินค้าออกไปคือการเก็บนั่นเอง) ซึ่งจุดเด่นของนวัตกรรมก็คือตอบสนองความต้องการของลูกค้านั่นเอง

2. การบริการ ไม่ว่าจะเป็นบริการหลังการขายหรือก่อนการขาย เพราะในการผลิตของน่านน้ำสีแดงนั้นจะเน้นการผลิตมากกว่าเรื่องบริการ เพราะจะเน้นผลิตมากๆ เพื่อให้ได้ต้นทุนที่ต่ำที่สุด โดยไม่สนใจว่าผู้ใช้อยากใช้มั้ย เน้นต้นทุนมากกว่าความต้องการของลูกค้า การให้ความสำคัญกับการบริการจะสามารถซื้อใจลูกค้าในระยะยาวได้ ซึ่งสังเกตได้จากการแข่งขันของอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งหลายๆคนก็รู้ว่าโตโยต้ากับฮอนดานั้นเป็นเสือสิงห์กันมานาน แต่ที่โตโยต้าอยู่ในใจของคนไทยมากกว่าเพราะใครก็รู้ว่าเวลาเข้าไปในศูนย์บริการนั้นจะได้รับการต้อนรับของพนักงานมากกว่ารายอื่นๆนั่นเอง


3. การสร้างความแตกต่าง (Differentiation) เรื่องนี้เคยเขียนไว้ในหลายๆบทความแล้ว การที่เราจะอยู่ในน่านน้ำสีฟ้านั้นเราก็ต้องไม่เหมือนคนอื่นๆ เพราะถ้าเหมือนก็แสดงว่าเรายังวนเวียนอยู่ในท้องน้ำสีเลือดนั่นเอง ยกตัวอย่างง่ายๆ คือ บริษัท แอปเปิ้ล ที่ผลิตแท็บเลตออกมาคือ iPad จากช่วงปีสองปีที่ผ่านมาที่ตลาดของคอมพิวเตอร์ลงไปกระจุกตัวกับเน็ตบุ๊คและโน๊ตบุ๊คกันอย่างมโหฬาร ไม่ว่าจะเจ้าเล็กเจ้าใหญ่ลงมาแข่งกัน กระทั่งอย่าง Vio ของโซนี่ยอมดั๊มราคาของมาแข่งด้วยซ้ำ จนแอปเปิ้ลเปิดตัว iPad รุ่นแรกและขายเป็นเทน้ำเทท่า ทำให้หลายๆเจ้าต้องมองแอปเปิ้ลด้วยความอิจฉา จนสุดท้ายทนกับความเย้ายวนในมูลค่าตลาดแท๊บเลตไม่ไหว ก็ผันตัวเองลงมาเล่นด้วย จนจากตลาดแท็บเลตที่เป็นน่านน้ำสีฟ้าอยู่ดีๆ จนตอนนี้กลายเป็นตลาดน้ำสีแดงไปแล้ว



นี่ก็เป็นตัวอย่างของการทำกลยุทธ์ของธุรกิจน่านน้ำสีฟ้า ซึ่งก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับหลายๆคนที่ยังวนเวียนอยู่ในทะเลอันโหดร้ายนะครับ

ขอให้มีความสุขในการทำธุรกิจนะครับ