วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2554

4Ps กับธุรกิจกาแฟสด (ภาคสุดท้าย)


บทความแรกของบล็อกเกอร์คนใหม่ใน SMEfriend ดีไม่ดียังไงแนะนำติชมมาได้นะครับ
ก่อนอื่นขอบอกก่อนเลยว่าบทความต่อจากนี้ของผมและ SMEfriend จะเป็นบทความอ่านง่ายภาษาบ้านๆเพื่อให้ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกการศึกษาอ่านได้ แต่ถ้ามีคำศัพท์เฉพาะผมก็จะนิยามความหมายไว้นะครับ

4Ps กับธุรกิจกาแฟสด

เป็นไงครับกับ 3-P: Place Product และ Price ที่ผมได้เขียนไปก่อนหน้า ต้องบอกไว้ก่อนเลยนะครับว่าผมก็ไม่ได้เชี่ยวชาญด้านกาแฟ ร้านกาแฟแต่อย่างใด แต่ผมมองโดยใช้หลักกลยุทธ์การตลาดบวกกับจิตวิทยาซึ่งเป็นของคู่กันมาอธิบายแบบง่ายๆ

วันนี้เป็นคิวของตัวสุดท้ายแล้ว P-Promotion หรือการส่งเสริมการขายหรือชาวบ้านๆเรียกกันว่า "โปร" นั่นล่ะครับ ว่าด้วยการส่งเสริมการขาย มันมีหลายวิธีหลายเทคนิคที่เขายนำมาใช้กัน การส่งเสริมการขายไม่ใช่แค่ลดราคา ขายถูกๆอย่างเดียว มันรวมถึงหลายๆอย่าง การจัดอีเวนท์ (Event) การขายพ่วง ฯลฯ ก็ถือเป็นการส่งเสริมการขายเหมือนกัน หลายๆคนมักเข้าใจผิด ชอบคิดว่าการจัดโปรคือลดราคา ซึ่งจริงๆแล้วมันคือส่วนหนึ่งเท่านั้น

การส่งเสริมการขายกับร้านกาแฟ ผมจะขอพูดเกี่ยวกับศิลปะกับการอัดโปรแล้วกัน อะไรที่เขาทำกันเป็นปกติแล้ว ผมไม่ขอพูดถึงแล้วกันเพราะเราสามารถศึกษาจากร้านต่างๆได้ วันนี้ผมจะพูดถึงศิลปะการส่วเสริมการขายโดยการที่ไม่ต้องลดราคา ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก ต้นทุนเพิ่มนิดหน่อย ลองติดตามอ่านแล้วกัน

โปรโมชั่นแรก แยกลูกค้า หลายคนอาจงงว่าแยกลูกค้าทำไม ทำยังไง ที่ผมพูดถึงคือ การแยกลูกค้าออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มลูกค้าประจำ และลูกค้าขาจร กลุ่มหลังนี่เราไม่ต้องไปเอาใจให้โปรโมชั่นอะไรมากเพราะเขามาวันเดียวก็จากไป หรือนานๆมาที ไม่ใช่ว่าไม่สนใจนะแต่เอาไว้ทีหลัง ที่ผมให้ความสำคัญคือลูกค้าประจำ ประจำที่พูดถึงคือ ทุกวัน ทุกสัปดาห์ เพราะพวกนี้ล่ะทำให้ธุรกิจเราอยู่ได้ คุณลองใช้โปรโมชั่นลับๆกับกลุ่มนี้ดู เช่น บอกเป็นรายบุคคลว่าถ้ามาทุกวันห้าวันติดแถมขนมเค้กหรือกาแฟให้ฟรี รับรองห้าวันไม่มากเกินไป ถ้ากาแฟคุณอร่อยจริงพวกเขาจะกลับมาทุกวันและจะยอมรับโปรของเราโดบปริยาย ซึ่งเสียต้นทุนไม่เท่าไหร่เมื่อเทียบกับกำไรจากกาแฟห้าวันที่ผ่านมา แบบนี้เราก็จะได้ลูกค้ากลุ่มหลักของเรา ดีไม่ดีเกิดการบอกต่อก็จะทำให้คนอื่นๆหันมาดื่มกาแฟร้านเรามากขึ้นจนกลายเป็นลูกค้าประจำและได้โปรโมชั่นของเราต่อไป โดยโปรโมชั่นนี้ส่วนใหญ่จะได้กับพวกพนักงานออฟฟิศ แม่บ้าน

โปรโมชั่นสอง มื้อสาย มื้อบ่าย เดี๋ยวนี้วิถีชีวิตของคนสมัยใหม่เปลี่ยนแปลงไปมาก คนมักไม่นิยมกินข้าวเช้าแต่กินขนมตอนสาย ไม่กินมื้อเที่ยงแต่ซัดอีกทีตอน Tea break (พักกินชากาแฟ) นั่นล่ะคือช่องทางของเรา มื้อสาย เราจัดแพ็คเกจซื้อกาแฟพ่วงแซนวิซร้อน (รับเขามาหรือทำเอง) โดยยอมลดราคารวมสองอย่างลงมาหน่อยนึง เพื่อดึงดูดให้ลูกค้ามาแวะทานอาหารเช้าที่ร้านของเรา เช่นเดียวกับมื้อบ่าย เราจัดแพ็คเกจกาแฟยามบ่ายกับขนมเค้กเพื่อดึงดูดได้อีกทางหนึ่ง อย่างนี้ล่ะครับ ได้ทั้งลูกค้าตอนเช้าและบ่ายในวันเดียว ซึ่งบางครั้งถ้าร้านตั้งในย่านชุมชน ย่านธุรกิจ อาจมีบางคนแวะมาสองครั้งเลยก็ได้ เช้ากาแฟกับแซนวิซ บ่ายชาเย็นกับขนมเค้ก เพอร์เฟกท์มากๆ

โปรโมชั่นที่สาม ห้องประชุมขนาดเล็ก บางช่วงเวลาของร้านอาจไม่มีลูกค้าเข้า มีมุมว่างๆโต๊ะเล็กๆสักตัวเก้าอี้สามสี่ตัว สามารถเนรมิตรเป็นห้องประชุมได้ อาจได้กลุ่มนักธุรกิจนัดมาคุยงานกันง่ายๆที่ร้านเรา เราก็เตรียมจัดชุดสำหรับสามสี่คนไว้ทั้งกาแฟและขนมไว้ รับรองร้านของเราจะกลายเป็นสาขาของสตาร์บั๊คส์โดยปริยาย แต่อันนี้เราไม่ต้องประกาศบอกไปมากเพราะเดี๋ยวลูกค้าจะเข้ามาชนกัน อดหมดเลย แต่ข้อพึงระวังอย่าปล่อยให้นั่งนานจนเราเสียลูกค้าไป หรือถ้านั่งนานก็จัดนำเสนอขนมหรือน้ำอื่นๆเข้าไปกดดัน ไม่ใช่เหมือนเคเอฟซีหรือแม็คที่ซื้อโค้กแก้วเดียวสอนพิเศษได้สองชั่วโมง

โปรสุดท้ายที่ขอนำเสนอ ไว-ไฟ ในร้าน อันนี้จะคล้ายๆร้านใหญ่ๆทั่วไปแต่พวกนั้นคือซื้อกาแฟแล้วขอพาสเวิร์ดใช้อินเตอร์เน็ต แต่ผมไม่เช่นนั้น ผมจะนำเสนอคือมุมสำหรับอินเตอร์เน็ตคือพวกถือโน๊ตบุ๊ค ไอแพดเข้ามาให้ไปโซนนั้น เพราะพวกนี้นั่งนานใช้งานนานไม่ยั้ง เราปล่อยเขาเล่นไป เพื่อกันบริเวณอื่นๆให้ลูกค้าคนอื่นได้ใช้ ส่วนเรื่องไว-ไฟ โซนนั้น ผมแนะนำมาว่าไปหาป้ายภาพกาแฟ ขนมของร้านมาตกแต่งเพื่อยั่วยวนดีกว่า เชื่อผมเถอะ 50% จะต้องยอมซื้อกาแฟเราบ้าง ไม่กินน้ำก็ต้องกันขนมอย่างแน่นอน อย่าน้อยยังไงเราก็เสียค่าอินเตอร์เน็ตอยู่แล้ว ก็ยอมให้คนที่มึนใช้ฟรีก็ได้ แต่อย่างน้อยร้านกาแฟเราก็ได้ชื่อว่ามีไว-ไฟให้บริการนะครับ



นี่เป็นตัวอย่างเล็กๆน้อยของการวิเคราะห์การใช้ 4Ps มาประยุกต์เข้ากับร้านกาแฟของคุณ หวังว่าที่เขียนมาจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านบ้างไม่มากก็น้อย ผมไม่ใช่คอกาแฟชั้นยอด แต่ผมก็เป็นนักกินชั้นเยี่ยมเหมือนกัน พรุ่งนี้เรื่องใหม่ ผมไม่แน่ใจว่าจะเขียนเกี่ยวกับ e-Marketing หรือกลยุทธ์โอทอปดี แต่ยังไงอย่าลืมติดตามกันนะครับ

วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

4Ps กับธุรกิจกาแฟสด (ภาค 3)


บทความแรกของบล็อกเกอร์คนใหม่ใน SMEfriend ดีไม่ดียังไงแนะนำติชมมาได้นะครับ
ก่อนอื่นขอบอกก่อนเลยว่าบทความต่อจากนี้ของผมและ SMEfriend จะเป็นบทความอ่านง่ายภาษาบ้านๆเพื่อให้ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกการศึกษาอ่านได้ แต่ถ้ามีคำศัพท์เฉพาะผมก็จะนิยามความหมายไว้นะครับ

4Ps กับธุรกิจกาแฟสด

วันนี้ขอเริ่มตัวที่สามอย่างไม่รีรอเลยล่ะกัน คือ P-Price หรือราคาขาย ซึ่งในตอนแรกผทกะจะเขียนถึงตัว P-Promotion หรือการส่งเสริมการขายก่อน แต่เนื่องจากว่าเรื่องการส่งเสริมการขายหรือภาษาบ้านๆเรียกว่า "การอัดโปร" เข้าไปนี่มันค่อนข้างเยอะและมีเทคนิคการขายเยอะ ผมจึงขอเขียนถึงตัวราคาขายก่อนเลยแล้วกัน

     ถ้ายังจำกันได้ผมเคยเขียนในตอนที่ 1 ไปแล้วว่า การหาทำเลการตั้งร้านต้องคิดถึงลูกค้าเป็นสำคัญ เช่นเดียวกับการกำหนดราคา ต้องนึกถึงกลุ่มลูกค้าเราเป็นสังคม ถ้าตั้งร้านขายย่านชุมชน ตลาด ไปตั้งราคาแพงก็ไม่มีใครมาซื้อหรอกครับ เช่นกันกับการตั้งร้านขายในย่านธุรกิจ ห้างสรรพสินค้า ย่านบริษัทเยอะๆ ไปตั้งราคาถูกว่า เขาก็มองว่าของราคาถูกไม่มีคุณภาพ ดังนั้นการตั้งราคานี่อาจจะต้องใช้ศิลปะหน่อย มองดูกลุ่มลูกค้าดีๆ แล้วฟันธงราคาไป รับรองได้ใจคนซื้อไปเยอะเลย แต่กลยุทธ์ราคานี่ผมมขอเขียนเป็นข้อๆเลยดีกว่า


1. หาสินค้าเพชรน้ำเอกของร้านแล้วตั้งราคา ใช่แล้ว ผมกำลังพูดถึงกาแฟรสอะไรก็ได้ จะใส่อะไรก็ได้ หน้าตาสวยแบบพระเอก นางเอก ตั้งให้เป็นตัวท๊อปของร้านจัดหนักสุดๆไปเลยเพื่อให้ลูกค้าจำได้ แล้วกำหนดราคาไปเลย จำไว้ถ้าของคุณดีจริง ลูกค้าก็ยอมจ่ายถ้าราคาเหมาะสม ยิ่งทำโปรโมชั่นคู่กับของหวานนะ รับรองยอดคุณกระจุยแน่ เพราะยิ่งถ้าเราถนัดในสิ่งที่เราทำ ทำกี่ทีรสชาติก็ไม่เปลี่ยน บวกกับของหวานกินคู่กัน เฉียบ...



2. อะไรที่ร้านอื่นมี ราคาอย่างห่างเยอะ ครับ ผมกำลังพูดถึง คาปูเย็น เอสร้อน ชานมปั่น กีวีโซดา ฯลฯ อะไรก็แล้วแต่ที่ร้านอื่นมีกัน อะไรที่บ้านเค้าดื่มกัน อย่าไปตั้งราคาหนีชาวบ้านเขามาก เพราะลูกค้าก็มีสิทธิ์ไปหาที่อื่นก็ได้ ผมไม่ได้แนะนำให้ขายแพงหรือขายถูกนะครับ แต่ยังไงของเบสิคๆพวกนี้ต้องขายพอๆกับข้างๆบ้าง


3. ตั้งราคาขายให้ดูปริมาณด้วย ผมพูดถึง ถ้าคุณมองดูแล้วว่าปริมาณลูกค้าต่อวันเฉลี่ยเท่าๆกันในแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์ แต่ละเดือน คุณฟันธงไปเลยนั่นคือตัวเลขในใจที่คุณจะต้องขาย คิดต้นทุนคงที่ของแต่ละวัน ต้นทุนผันแปรของกาแฟนั้น แล้วบวกกำไรที่เราต้องการเข้าไป นั่นล่ะคือราคาที่เราควรตั้งไว้ ผมจะยกตัวอย่างโจทย์ง่าย
     ในหนึ่งวันคุณมีต้นทุนคงที่ คือ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแรงงาน อยู่ที่ 1,000 บาท ต้นทุนผันแปรของกาแฟอยู่ที่ 20 บาทต่อแก้ว นับสถิติลูกค้าต่อวันได้ 100 แก้ว กำไรในใจของคุณต่อวัน คือ 3,000 บาท ดังนั้นคุณควรตั้งราคากาแฟดังนี้
                                   ต้นทุนคงที่ต่อหน่วย = 1,000/100 = 10 บาทต่อแก้ว
                                   ต้นทุนผันแปรกาแฟ = 20 บาทต่อแก้ว
                                   กำไรในใจต่อแก้ว = 3,000/100 = 30 บาท
                      ดังนั้นราคากาแฟต่ำสุดที่คุณควรตั้ง = 10+20+30 = 60 บาทต่อแก้ว
     นั่นล่ะครับ คือราคากาแฟขั้นต่ำที่คุณควรตั้ง อ่อ ตัวอย่างอาจดูแพงไปอย่าไปคิดมากนะครับ ผมสมมติตัวแลขขึ้นมา อย่าลืมคิดต้นทุนการตลาด การโฆษณา การขายต่อเดือนซึ่งเป็นต้นทุนคงที่เข้าไปด้วย


4. ราคาที่ตั้ง ห้ามเพิ่ม แต่ลดได้ เรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญมากๆ เรื่องเงินเรื่องตัวเลขเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ถ้าคุณมั่นใจในการดีดตัวเลขราคาขายของคุณและเขียนในป้ายราคาแล้ว จงใช้ตัวเลขนั้นตลอดไป แก้ไขได้ในกรณีโปรโมชั่น ลดราคาเท่านั้น ถ้ากาแฟตัวไหนของคุณต้นทุนขึ้นราคา อย่าไปเปลี่ยนแปลง จงหาหนทางอื่นในการชดเชยต้นทุนนั้นไป เช่น อัดโปรในรายการที่ส่วนต่างสูง เพราะถ้าคุณเปลี่ยนราคาให้สูงขึ้น รับรองลูกค้าหายหมดแน่ เพราะลูกค้าจะไม่มั่นใจในร้านคุณต่อไป เพราะเขาคิดว่าคุณหักหลังเขา


นี่ก็เป็นตัวอย่างของการกำหนดกลยุทธ์ด้านราคานะครับ มีอีกหลายอย่างเลยที่ทำได้ ผมยกตัวอย่างที่เห็นภาพง่ายๆมาก่อนแล้วกัน เพราะเชื่อว่าคนขายจะเข้าใจมากกว่าคนกินอย่างผมอีก เหอะๆ พรุ่งนี้ติดตามตอนสุดท้ายของ 4Ps กับธุรกิจกาแฟสด P ตัวสุดท้าย คือ P-Promotion อย่าลืมติดตามอ่านกันนะครับ

วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

4Ps กับธุรกิจกาแฟสด (ภาค 2)


บทความแรกของบล็อกเกอร์คนใหม่ใน SMEfriend ดีไม่ดียังไงแนะนำติชมมาได้นะครับ
ก่อนอื่นขอบอกก่อนเลยว่าบทความต่อจากนี้ของผมและ SMEfriend จะเป็นบทความอ่านง่ายภาษาบ้านๆเพื่อให้ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกการศึกษาอ่านได้ แต่ถ้ามีคำศัพท์เฉพาะผมก็จะนิยามความหมายไว้นะครับ

4Ps กับธุรกิจกาแฟสด

P-Product ผลิตภัณฑ์ ผมต้องบอกไว้ก่อนเลยว่าผมไม่ได้พูดถึงแค่กาแฟในแก้ว แต่ผมพูดถึงเม็ดกาแฟ นมข้น นมสด น้ำแข็ง แก้วกาแฟ หลอดกาแฟ และที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้ธุรกิจกาแฟสดของคุณอยู่ได้คือ ขนมกินกับกาแฟ เรามาชำแหละดีละตัวเลยดีกว่า

เม็ดกาแฟ นมข้น นมสด ส่วนผสมอื่นๆ ผมไม่อยากจะพูดพวกนี้เยอะเพราะต่างคนต่างมีของดีในตัว บางคนได้เม็ดาแฟจากเมืองนอก จากภาคเหนือ จากเจ๊เล้ง จากโรงงานชั้นดี หรือแม้แต่นม ยี่ห้อต่างๆก็มีดี แต่ในที่นี้ผมจะพูดถึงคุณภาพที่อยู่ในตัว หลายๆคนทำธุรกิจไปแล้วเกิดความรู้มาก อยากได้รายได้เยอะขึ้นก็เลยไปลดต้นทุน ลดคุณภาพวัตถุดิบลง แล้วไงครับ อย่าไปดูถูกคอกาแฟเชียวนะ พวกเขาจับได้หมดหากคุณทำผิดสูตรไป ในส่วนตัวของผมแนะว่ายังไงก็ขอให้คงคุณภาพไว้หรือทำให้ดีกว่าเดิมดีกว่า อย่าไปแตะต้องเรื่องพวกนี้เชียวล่ะ

แก้วกาแฟ โอยอันนี้บ่งบอกถึง Brand Royalty ของลูกค้าอย่างชัดเจน (Brand Royalty - ความจงรักภักดีต่อแบรนด์หรือตราสินค้า) ผมแนะไว้เลยถ้าคุณสามารถติดตราร้านของคุณในแก้วได้ล่ะก็ โอกาสธุรกิจคุณสดใส เพราะลูกค้าจะรู้สึกหลายๆอย่างกับกาแฟคุณ ความใส่ใจ ความได้ระดับของสินค้า เดินไปมาถือแก้วกาแฟอย่างไม่อายใคร ลองคิดสิ คนยอมจ่ายเงินเกือบร้อยบาทเพื่อได้ถือแก้วกาแฟของสตาร์บั๊คส์ หรือสี่สิบบาทของอะเมซอน เวลาถือไปกินไป รู้สึกถึงความ proud (ยินดี) ในตัวกาแฟ กลายเป็นว่ารสชาติของกาแฟอาจจะกลายเป็นแค่องค์ประกอบเล็กๆไปเลยก็ได้ แต่อย่างว่า ต้นทุนการทำแก้วกาแฟก็สูง ผลิตเยอะๆถึงคุ้ม ถ้าคุณไม่มีต้นทุน ผมแนะนำแค่สั่งทำสติ๊กเกอร์เล็กๆแปะที่แก้วหรือถุงใส่แก้วก็พอ แค่นี้ก็สร้าง Brand Royalty ได้แล้ว

ขนมกินกับกาแฟ ตัวนี้ล่ะจะทำให้ธุรกิจคุณมีรายได้เพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัว ส่วนใหญ่คนดื่มกาแฟก็ต้องหาขนมมากินคู่ เช่น เค้ก คุ๊กกี้ ฯลฯ ซึ่งผมไม่ได้หมายความให้คุณทำขนมเป็น ผมแนะนำให้เบื้องต้นสำหรับการทำธุรกิจกาแฟสด ให้ไปเสาะหาร้านขนมชื่อดังใกล้ๆ หรือร้านที่ไม่ดังแต่อร่อย (ร้านลับ) ซื้อของเขามาขายหรือให้เขามาฝากขายก็ได้ กลายเป็นการรวมตัวกันของสองธุรกิจ เขาได้ช่องทางขายเพิ่ม เราได้ผลิตภัณฑ์เพิ่ม โอยได้ทั้งคู่ตามหลัก Synergy (หรือ 1+1 = 3) เราได้ เขาได้ เพิ่มโอกาสมากมาย และที่สำคัญที่สุด ขนมนี่ล่ะมีส่วนต่างของราคากับต้นทุน (Margin) ค่อนข้างสูง ยิ่งขนมเราอร่อยมากเท่าไหร่ คนก็จะจำได้ว่าร้านเรามีทั้งกาแฟและขนมจนบางครั้งลืมไปเลยว่า ขนมที่กินเป็นของร้านไหน

สุดท้ายที่ผมจะแนะนำเกี่ยวกับ P-Product คือ ร้าน ซึ่งตามหลักทฤษฎีของ 4Ps ร้านจะอยู่ในเรื่องของ P-Place ที่เราเกริ่นไปเมื่อวาน แต่ผมขอยกมาไว้ใน P-Product เพราะ ผมต้องการให้ทุกคนมองร้านเป็นผลิตภัณฑ์ไม่ใช่แค่สถานที่ เพราะไหนๆเราลงทุนทำร้านแล้วเราต้องใช้ประโยชน์มากที่สุด ร้านกาแฟสดที่ดีจะต้องมีที่นั่งที่สามารถดึงดูดให้ลูกค้านั่งนาน นั่งแล้วอบอุ่น อยากกลับมานั่งใหม่ อยากนัดเพื่อน นัดคุยธุรกิจ ที่พูดมานี่สตาร์บั๊คส์เขาทำมาแล้ว ทำให้ลูกค้ากลับมาหาตลอด เราก็ลองทำแบบเขาดู ทำยังไงก็ได้ที่ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าร้านของเราไม่ใช่แค่ร้านกาแฟ ให้เขาคิดว่าเป็นบ้าน เป็นสถานที่ท่องเที่ยว มาถ่ายรูป (ตามนิยม) มา Check-in ลง Facebook นั่นล่ะจะทำให้ร้านของเราต่างจากที่อื่น ผมนึก Case หนึ่งออกมาได้ ใครที่ไม่รู้สึก Primo Posto ที่ปากช่อง เขาใหญ่มั้ยล่ะ นั่นล่ะเขาทำร้านกาแฟที่ไม่ใช่ร้านกาแฟ ด้วยรสชาติผมก็ว่ากลางๆนะไม่ได้หวือหวาอะไรมาก แต่เขาทำให้คนกลับเข้ามาถ่ายรูป มาจีบสาว มาเดินเล่นเหมือนสถานที่ท่องเที่ยว โดยสร้างมูลค่า (Value) ให้กับร้านทั้งการออกแบบ บรรยากาศ นั่นล่ะสิ่งที่ผมพูดถึง

เป็นอย่างไรบ้างครับกับ P-Product ที่กล่าวมาในวันนี้ หวังว่าจะจุดประกายให้หลายๆคนนะครับ อย่ามองแค่กาแฟ มองให้มากกว่ากาแฟ

วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2554

4Ps กับธุรกิจกาแฟสด

บทความแรกของบล็อกเกอร์คนใหม่ใน SMEfriend ดีไม่ดียังไงแนะนำติชมมาได้นะครับ
ก่อนอื่นขอบอกก่อนเลยว่าบทความต่อจากนี้ของผมและ SMEfriend จะเป็นบทความอ่านง่ายภาษาบ้านๆเพื่อให้ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกการศึกษาอ่านได้ แต่ถ้ามีคำศัพท์เฉพาะผมก็จะนิยามความหมายไว้นะครับ

4Ps กับธุรกิจกาแฟสด

ก่อนอื่นบอกก่อนเลยว่าเรื่อง 4Ps นั้นอธิบายวันเดียวไม่หมดแน่ เพราะดังนั้นจะทยอยอธิบายไปล่ะกัน
เริ่มจาก P แรกก่อนเลย P-Place ในธุรกิจกาแฟสดนั้นผมจะต้องพูดถึง P-Place หรือสถานที่จัดจำหน่ายก่อน เพราะมันเป็นสิ่งแรกที่ควรใส่ใจก่อนการทำธุรกิจกาแฟสด ไม่ว่ารายเล็ก รายใหญ่ ข้างถนนหรือในห้าง เพราะถ้าคุณกำหนดจุดการจัดจำหน่ายที่ถูกต้องก็จะเป็นที่ต้องตาต้องใจลูกค้า ถ้าเผอิญไปตั้งผิดที่ผิดทางระวังจะขายไม่ได้โดยไม่รู้ตัว
     การตั้งร้านกาแฟนั้นสำคัญมากคือการกำหนดกลุ่มลูกค้าว่ากาแฟเรานั้นเน้นกลุ่มลูกค้าแบบใด ถ้าราคาแพงก็ต้องเน้นกลุ่มวัยทำงาน นักเดินทาง ถ้าราคากลางๆก็เป็นกลุ่มวัยทำงาน นักศึกษา นักเรียน (แต่ส่วนใหญ่ นักเรียนไม่นิยมดื่มกาแฟสดกัน) ถ้าราคาถูกก็เป็นพวกวัยทำงานรายได้ต่ำ (ซึ่งไม่ยอมเสียตังค์ซื้อแน่) หลังจากเรากำหนดกลุ่มเป้าหมายแล้ว แต่ผมเชื่อว่าหลายๆคนที่เปิดร้านกาแฟไม่ค่อยได้คิดเรื่องกลุ่มลูกค้าหรอก ให้ผมเดานะว่าส่วนใหญ่จะเปิดร้านตามแหล่งชุมชน ย่านธุรกิจ หรือมองดูซ้ายขวาว่าไม่มีใครเปิดก็เปิด แต่อย่าคิดว่ามันจะเป็นเช่นนั้นเสมอไป
     การกำหนดกลุ่มลูกค้าทำให้เราสามารถเดารายได้ต่อวันที่จะเข้ามาได้ แล้วลองกลับมาหักลบกับต้นทุนคงที่ (fixed cost) เช่นพวกค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าที่ อะไรที่ต้องเสียอยู่แล้วไม่ว่าจะขายได้หรือขายไม่ได้ และต้นทุนผันแปร เช่น ราคาเม็ดกาแฟ นมข้น อะไรต่างๆที่แปรผันกับจำนวแก้วที่ขายได้ ลองดูว่ารายได้ที่หักต้นทุนทั้งสองนั้นเพียงพอต่อคุณในแต่ละวันหรือไม่ นี่ยังไม่รวมการโฆษณา การประชาสัมพันธ์ซึ่งยังไม่กล่าวในต้นทุน ลองดูว่ามีกำไรต่อวันเท่าไหร่ ถ้าเหลือมากพอก็กำหนดได้เลยว่าน่าจะเป็นทำเลทองของเรา ถ้าไม่โอเคก็ลองเปลี่ยนทำเลใหม่และลองคำนวณเหมือนที่กล่าวมาอีกทีจนได้ทำเลที่เราพอใจ
     ทำเลที่ตั้งร้านกาแฟไม่จำเป็นต้องเป็นที่ชุมชนหรือย่านการค้าก็ได้ เพราะบางทีคนแถวนั้นอาจไม่ชอบดื่มกาแฟสดก็ได้ เพราะอย่าลืมว่ากาแฟสดนี่ก็โทษเยอะเหมือนกัน ราคาแพง ไขมันเยอะ ฯลฯ
     ผมลองยก Case Study ง่ายๆ ที่สหหรัฐอเมริกา แต่ก่อนร้านกาแฟสตาร์บั๊คส์นิยมมาก จนบางตึกที่มีนักธุรกิจ พนักงานบริษัทมากๆมีร้านกาแฟยอดนิยมไม่ต่ำกว่าสิบสาขา ไปๆมาๆ กลายเป็นว่าแย่งยอดขายกันเอง สุดท้าย สตาร์บั๊คส์ก็ต้องลดปริมาณลงเอาให้พอดีกับลูกค้าที่มี

     เขียนไปเขียนมา จากเรื่องทำเลมาลงที่ลูกค้าอีกแล้ว แต่มันคือเรื่องจริงที่เราต้องเน้นที่ลูกค้าก่อนที่จะกำหนดทำเลที่ตั้ง อีกตัวอย่างหนึ่งคือ ร้านอะเมซอนตามปั๊มปตท. สังเกตว่าทุกปั๊มปตท.ที่ปรับปรุงใหม่จะลงร้านอะเมซอนทุกสาขา เพราะเขาชื่อว่าคนขับรถไม่ว่าจะไปเที่ยวหรือทำธุระยังไงต้องมีบางส่วนกินกาแฟเพื่อแก้ง่วง และคงไม่สะดวกที่จะแวะตามร้านข้างทางเพราะไม่รู้รสชาติและเสียเวลา แต่ไหนจะแวะปั๊มเติมน้ำมัน เข้าห้องน้ำก็เลยแวะซื้อกาแฟด้วย เพราะเชื่อในรสชาติและราคาที่เป็นมาตรฐาน ทำให้ทุกวันนี้อะเมซอนถึงอยู่ได้
  ร้านกาแฟบางร้านขายแค่หน้าออฟฟิศหรือธนาคารก็ขายได้ เพราะลูกค้าประจำและแน่นอน รายได้ประมาณการได้ ส่วนบางร้านก็เน้นลูกค้าขาจร เช่น ร้านตามข้างถนน ร้านตามสถานที่ท่องเที่ยว เป็นต้น บางร้านลงทุนเปิดหน้าแฟนเพจใน Facebook หรือ Twitter เพื่อให้ลูกค้ารู้จัก ถึงแม้จะไม่ได้มาตอนนี้ก็อาจจะมาลองชิมกาแฟที่ร้านในวันข้างหน้าหรืออาจบอกต่อคนรู้จักก็ได้ ซึ่งการทำหน้าเว็บนั้นก็ถือเป็นการใช้กลยุทธ์สถานที่จัดจำหน่ายเหมือนกัน แต่การมีหน้าร้านตามเว็บหรือใน Facebook ก็ถือเป็นการให้ความสำคัญในสถานที่จัดจำหน่ายเหมือนกัน
     นี่ก็เป็นตัวอย่างเล็กน้อยที่ผมจะเอ่ยถึง P-Place หรือทำเลที่ตั้งหรือสถานที่จัดจำหน่าย ที่เราจะต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกหากคิดที่จะเปิดร้านกาแฟ พรุ่งนี้ ติดตามต่อ P-Product (ผลิตภัณฑ์) โชคดีครับ