วันศุกร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2554

ท้องฟ้าสีคราม น่านน้ำสีแดง

วันนี้อย่าเพิ่งตกใจกับชื่อบทความนะครับ ผมไม่ได้มาเขียนนิยามน้ำแน่นอน วันนี้น้ำดีล้วนแถมแดงไปด้วยเลือดอีกต่างหาก ใช่แล้วครับ ผมกำลังพูดถึงการประกอบธุรกิจในน่านน้ำสีแดง หรือ Red Ocean นั่นเอง

ด้วยทุกวันนี้ระบอบทุนนิยมได้เข้ามามีอิทธิพลกับเราๆท่านๆทุกคน ไม่มากก็น้อย อย่างที่บอกชื่อมันก็ว่าทุนนิยมอยู่แล้ว คือ การเอาทุนมาลงให้เกิดความนิยมในตัวสินค้าหรือบริการ โดยไม่สนผลกระทบต่อเศรษฐกิจเลยว่าจะก่อให้เกิดผลเสียหายยังไง แน่นอนคนที่ได้ประโยชน์คือผู้บริโภคหรือลูกค้า คนที่โดนเต็มๆก็คือผู้ประกอบการขนาดเล็กหรือกลาง ที่นับวันจะโดนพวกยักษ์ใหญ่ขย้ำกินจนไม่เหลืออะไร ซึ่งระบบทุนนิยทนี้เองทำให้เกิดการแข่งขันกันอย่างสูง สูงมากจนขนาดที่จะรบกันด้วยอาวุธทุกขนาดที่มี อย่างเช่น ทรูมูฟกับดีแทคยื่นฟ้องศาลกันไปมาทั้งในเรื่องการฮั้ว 3G หรือการที่ถือหุ้นโดยต่างชาติ ดูแค่นี้ก็รู้แล้วว่าเล่นกันแรงจริง จนพื้นที่การต่อสู้นั้นเต็มนองไปด้วยเลือด ซึ่งก็ไม่ใช่เลือดของใคร ก็เลือกของคู่แข่งทั้งหลาย


น่านน้ำสีแดง นั้นสามารถอุปมาอุปมัยได้ดังนี้ น่านน้ำก็เหมือนตลาด (ไม่ใช่ตลาดสดนะครับ) ตลาดของอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งมีขนาดและมูลค่ากว้างใหญ่มหาศาลมาก บริษัท ห้างร้านต่างๆก็คือปลาที่แหวกว่ายอยู่ในท้องทะเลนั้น อาจมีปลาขนาดใหญ่และขนาดเล็ก คละเคล้ากันไป เช่น วาฬ ปลาฉลาม ปลาปักเป้า ปลากระพง ปลาเก๋า ดาว สาหร่าย อะไรทำนองนี้ บริษัทขนาดใหญ่ก็เปรียบเสมือนนักล่าที่ล่าปลาขนาดเล็ก ก็คือร้านค้า SME OTOP ที่แหวกว่ายอยู่ในห่วงโซ่อาหาร ซึ่งใครตัวใหญ่ ฟันคม กินเยอะก็ออกล่าปลาน้อย น่ารักอย่างนีโม่ไปจนหมดท้องทะเล กินตัวเล็กจนหมด ก็หันมากินกันเอง จนท้องน้ำนั้นมีแต่เลือด ส่วนพวกดาว สาหร่ายก็กลายเป็นผู้ผลิตขั้นต้นของห่วงโซ่อาหาร ก็อาจไม่ได้รับผลอะไรมากมาย แต่เมื่อปลาเล็กปลาน้อยหมดไปทีละนิดๆ ปลาใหญ่ก็จะหันมากินพวกเขานั่นเอง


นี่ก็เป็นการเปรียบเปรยของฝรั่งเขาในการอธิบายการแข่งขันอันดุเดือดของท้องทะเล ซึ่งจากธรรมชาติของท้องทะเลนั้นก็จะมีช่วงมรสุม ช่วงน้ำนิ่ง ช่วงเกิดสึนามิ มันก็เปรียบเสมือนสภาพการแข่งขันที่จะมีปัจจัยต่างๆเข้ามาเกี่ยวข้อง นี่ก็เป็นการอธิบายแบบคร่าวๆ


แล้วตัวเราล่ะ?
หลังจากที่เรารู้จักน่านน้ำสีแดงแล้ว เราก็ลองมาดูตัวเราเองว่าเราเป็นส่วนไหนของท้องน้ำนี้บ้าง เช่น ถ้าเราเป็นผู้ผลิตรายแรกของห่วงโซ่ เช่น เกษตรกร ผู้นำเข้าวัตถุดิบ เราก็เหมือนสาหร่าย แพลงตอนในท้องน้ำที่เป็นรายแรกของห่วงโว่ในทะเล ถามว่าเป็นอาหารแล้วดีหรือไม่ มันก็ตอบได้ว่าดีแน่ เพราะแค่ผลิต ผลิตให้กับปลาเล็กปลาน้อยเรื่อยๆ แต่จะไม่ดีก็ต่อเมื่อมีสาหร่ายบริเวณอื่นๆเพิ่มขึ้นมา จนปลากินไม่ไหว ก็ต้องรอแห้งเหี่ยวตายไป ซึ่งในกรณีเราก็ต้องดูกระแสลมด้วยกว่า ใครเริ่มมาทำเหมือนเราหรือยัง ถ้าเริ่มมี เราต้องหาหนทางใหม่ๆ เช่น กลายเป็นปลาดาวหรือผู้ผลิตอย่างอื่นแทน (หาตลาดและสินค้าใหม่ๆ) หรือไม่ก็กลายเป็นปลาแทน ซึ่งก็ต้องเริ่มจากปลาตัวน้อยๆอย่างนีโม่ก่อน ซึ่งถ้าอยากเป็นนีโม่ตลอดชีวิตก็อาจโดนฉลามกัดจายได้ เราก็ต้องหัดกลายพันธุ์เติบโตธุรกิจให้ใหญ่ขึ้นมาเป็นฉลามแทน เพื่อไว้ฟัดกับฉลามด้วยกัน หรือไม่ก็โตเป็นวาฬแทน เพื่อให้เป็นยักษ์เบอร์หนึ่งในตลาดแทน ซึ่งอย่างที่บอก น่านน้ำแห่งนี้นั้นอันตรายทุกฝีก้าว หากเราว่ายน้ำชิลล์ไม่สนใจการหมุนไปของโลก สักวันต่อให้เราเป็นปลาฉลาม ก็อาจจะโดนปลาที่ใหญ่กว่ากัดเราได้ หรือบางทีก็อาจจะโดนฝูงปลาตัวเล็กรุมกัดได้เหมือนกัน


หาทางหลุดพ้นกันเถอะ
หลังจากหลงไปกัดฟัดกับฉลามด้วยกันมาจนเลือดเลอะหมดตัวเกือบตาย สุดท้ายนั่นก็คือทุกข์ ดังนั้นเราก็หาทางดับทุกข์กันดีกว่า ง่ายๆเลย ถ้าบริเวณที่เราอยู่นั้นหรือธุรกิจที่เราทำนั้นเริ่มเลือดนองเต็มจนไม่ไหวแล้ว ก็ขอให้เราแหวกว่ายผ่านซากปลาน้อยๆเหล่านั้นไปหาแหล่งที่อยู่ใหม่ดีกว่า ซึ่งคือการเปิดตลาดใหม่หรือธุรกิจแล้วแต่กรณี หรือภาษาทางการหน่อยก็จะเรียกว่า น่านน้ำสีฟ้า (Blue Ocean) น่านน้ำใหม่ที่อยู่ใหม่ที่ไม่ค่อยมีใครมายุ่ง คือเราเริ่มทางเดินของธุรกิจใหม่ ไม่มีใครมาแย่งมาแข่งเอาผลประโยชน์เราไป นั่นล่ะคือหนทางออกที่ดีที่สุด แล้วทำยังไงล่ะ พรุ่งนี้ิติดตามอ่านต่อได้


ขอบคุณทุกๆคนที่เข้ามาอ่านบทความของ SMEfriend นะครับ หวังว่าคงได้ประโยชน์ทั้งสาระและบันเทิงกันไปไม่มาก็น้อย ช่วงนี้ขอเอาใจผู้ประสบภัยทุกท่านด้วย

วันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2554

กลยุทธ์สร้างแบรนด์ โดย "สร้างเฮาส์แบรนด์หรือแบรนด์บ้านๆ"

กลยุทธ์สร้างแบรนด์ โดย "สร้างเฮาส์แบรนด์ หรือ แบรนด์บ้านๆ"


ช่วงนี้ขออภัยจริงๆกับบทความที่มาบ้าง ไม่มาบ้าง เพราะช่วงนี้งานเข้าทั้งงานประจำและไม่ประจำ คือจริงๆแล้วอยากจะพิมพ์ให้ทุกคนได้อ่านกัน เพราะสมองมันคิดไว้ตลอดว่าจะนำเสนอเรื่องอะไร แต่ก็มือไม่ว่างจริงๆ ก็อยากจะขออภัยมา ณ ที่นี้อีกครั้ง แต่วันนี้รับรอง เนื้อๆเน้นๆกับสาระเรื่อง เฮาส์แบรนด์ (House Brand) แน่นอน

What's "House Brand" แล้วมันคืออะไรกันล่ะ
ถ้าลองหาดูใน Google จะพบว่าเฮาส์แบรนด์นั้นเขาจะเขียนหมายถึงตราสินค้าของห้างค้าปลีกที่นำมาวางขายแข่งกับตราสินค้าอื่นๆทั่วไป เช่น Aro Q-Biz ของห้างแมคโคร หรือ Supersave Tesco ของห้างเทสโก้โลตัส ซึ่งจริงๆแล้วห้างพวกนี้ไม่ได้ผลิตเองหรอก แต่อาศัยว่าตัวเองมีปริมาณการขายที่มาก สามารถเย้ายวนผู้ผลิตรายต่างๆยอมผลิตสินค้าให้ ซึ่งอาจจะลดคุณภาพนิดหน่อยเพื่อให้ได้ราคาถูกลงมา ไม่เชื่อก็ลองไปดูฉลากด้านท้ายของสินค้าก็ได้ บางครั้งจะพบว่าผลิตที่เดียวกับสินค้าแบรนด์ระดับดังๆเลยแต่ขายถูกกว่า ซึ่งห้างเหล่านี้ผลิตสินค้ามาก็เพื่อเอาใจกลุ่มรากหญ้าที่นิยมของถูก

อ้าวแล้วมันเกี่ยวอะไรกับเราวันนี้ล่ะ ครับ ผมขอแปลคำว่า House Brand ลึงลงมาอีกนิด House แปลว่าบ บ้าน ใช่มั้ย ใช่แล้วครับ ผมกำลังพดถึงการทำแบรนด์สินค้าแบบบ้านๆ หรือเรียกให้ดีหน่อยก็คือ แบรนด์ท้องถิ่น นั่นเอง

แบรนด์ท้องถิ่น สามารถยกตัวอย่างได้ เช่น (อ่อ ขอเอาพวกที่ขายแบบ mass  แล้วกันนะครับ) สาลี่เอกชัย กระหรีปั๊บครูต้อ แหนมป้าย่น อะไรทำนองนี้ พวกนี้คือสินค้าแบรนด์ท้องถิ่นที่มีมานานหลายสิบปีแล้วครับ แบบว่าเป็นดาวค้างฟ้าไปแล้ว แต่ถ้าเราเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ล่ะจะทำอย่างไร

สมมติแล้วกันผมจะทำธุรกิจที่จังหวัดสระบุรี โดยที่ผมเล็งไว้ 3 อย่างด้วยกันที่ต้องคำนึงถึง คือ
1. คุณภาพ
2. ราคา
3. ชื่อและโลโก้

ซึ่งผมคิดไว้ว่าจะทำธุรกิจอยู่ 3 อย่างด้วยกัน คือ ร้านเบเกอรี่ บริษัททัวร์ และอู่ซ่อมรถ (ตัวอย่างนะครับ เอาพอประมาณ นี่คิดสดๆเลยนะนี่)

ด้านคุณภาพ
อันนี้ผมจะไม่ขอพูดถึงเยอะนะครับ เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ทุกธุกิจจะต้องคำนึงถึง ลองคิดง่ายๆก็ได้ ว่าร้านอาหารใหญ่ๆดังๆตามเยาวราชที่ขายมานานกว่า 50-60 ปี เขาอยู่ได้ไง เพราะคุณภาพนั่นล่ะครับ เชื่อผมเถอะลูกค้ายอมที่จะจ่ายเงินแพงกว่าเพื่อให้ได้คุณภาพที่ดีกว่า ซึ่งอย่างสามธุรกิจที่ผมเลือกนั้น ผมต้องการปั้นให้เป็นแบรนด์แห่งคุณภาพด้วย เช่น ร้านขนมเบเกอรี่ที่เน้นวัตถุดิบที่ดีที่สุด ไม่มีของค้างคืน ใหม่สดเสมอ ในส่วนของบริษัททัวร์ ก็ต้องเน้นอาหารดีๆ ห้องพักเหมาะสมกับราคาและคุณภาพ ถ้าเป็นอู่ก็ต้องซ่อมตรงเวลานัด ใช้อะไหล่ที่เป็นของแท้ ไม่ย้อมแมว ซึ่งที่เอ่ยมาคร่าวๆนี้ก็สามารถปั้นแบรนด์ให้เป็นแบรนด์แห่งคุณภาพได้แล้ว โดยเราอาจจะตั้งสโลแกนของแบรนด์เน้นไปทางคุณภาพก็ได้

"ใหม่ สด พร้อมเสริ์ฟ" สำหรับร้านเบเกอรี่
"สนุกไปทุกที่ คุ้มค่าทุกราคา" สำหรับบริษัททัวร์
"เหมือนซ่อมที่ศูนย์" สำหรับอู่ซ่อมรถ

ด้านราคา
ด้านราคานั้นจะแปรผันตรงกับคุณภาพของสินค้าหรือบริการ ซึ่งของดีย่อมราคาสูงเป็นเรื่องธรรมดา แต่อย่าให้ราคาสูงจนเกินไปจนลูกค้าจดจำเราว่าเป็นแบรนด์ไฮโซ ซึ่งจะทำให้ลูกค้ากลุ่มรากหญ้าหายไป ซึ่งเรื่องราคานั้นก็ต้องสอดคล้องกับต้นทุน (หาอ่านได้ในการวิเคราะห์ต้นทุน ในเรื่อง Make or Buy) ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าจะเน้นกำไรขนาดไหน อย่างเช่น
ร้านเบเกอรี่ จะเน้นกำไรน้อยแต่อาศัยขายได้มาก
บริษัททัวร์ จะเน้นกำไรต่อหัวในเรื่องห้องพักมาก แต่ทุ่มในเรื่องของอาหารและการเดินทาง
อู่ซ่อมรถ จะเน้นกำไรในอะไหล่ แต่เน้นค่าแรงถูก

ด้านชื่อและโลโก้
อันนี้ถือเป็นเรื่องทำค่อยข้างอ่อนไหวมากในการสร้างแบรนด์ไม่ว่าจะเป็นจะเป็นแบรนด์ระดับโลกหรือท้องถิ่น การตั้งชื่อจะสัมพันธ์กับสินค้าและบริการหรือไม่ก็ได้ เช่น ข้าวตังแม่ละเมียด ซึ่งจะเห็นว่าเอาชื่อมาตั้ง แต่ต้องจำง่าย เช่น ก๋วยเตี๋ยวนายหมา ไม่ยาวจนเกินไป เช่น วุ้นน้องนุช อย่าใช้คำสมาสหรือสนธิ เช่น นฤดลรีสอร์ท หรือ โคปาคาบาน่า (คนจะจำยาก ต้องหาชื่อเล่นมาเรียกแทน "โคปา") ซึ่งการตั้งชื่อนั้นถือเป็นศาสตร์อย่าหนึ่ง เหมือนตั้งชื่อลูก เพราะชื่อแบรนด์จะอยู่กับเราไปตลอด ถ้าใช้แล้วจะเปลี่ยนถือว่ายากมากๆ อันนี้เป็นเรื่องสำคัญมากๆ ซึ่งผมเองจะไปแนะนำก็ไม่ได้ เพราะอย่างที่บอก ตาดีได้ตาร้ายเสีย ซึ่งชื่อของแบรนด์นั้นก็จะต้องสื่อความเป็นตัวตนของเราด้วย ซึ่งชื่อนั้นก็จะทำให้ลูกค้ารู้ว่านั้นขายของให้กับลูกค้ากลุ่มใด อย่างเช่น ชื่อภาษาอังกฤษหรือ"ฮโซก็จะเน้นตลาดกลุ่มบน ชื่อบ้านๆก็เน้นกลุ่มทั่วไปและตลาดกลุ่มล่าง

ต่อมาคือเรื่องของโลโก้ ซึ่งเป็นของคู่กัน บางคนใช้ชื่อเป็นโลโก้ บางคนใช้ชื่อแยกออกจากโลโก้ ก็แล้วแต่กันไป แต่อย่าออกแบบโลโก้เราให้จำยาก รายละเอียดเยอะเกินไปก็ไม่ดี ดูตัวอย่างแบรนด์ Coca Cola สิครับ สีแดงจัดๆอย่างเดียวหรือ Nike ที่เป็นเครื่องหมายถูก ชัดเจน แต่สื่อให้เข้าใจด้วย เพราะคุณจะขายกล้วยปิ้ง แต่ทำโลโก้เป็นเครื่องบินอันนี้ก็ไม่เหมาะเท่าไหร่ เดี๋ยวนี้เขามีบริการรับจ้างออกแบบตราสินค้ารวมถึงการบรรจุด้วยเพราะต้องสัมพันธ์กันไป หรือเรื่องของฮวงจุ้ยก็ถูกเอามาใช้ในการออกแบบด้วยเหมือนกัน
ตัวอย่างการตั้งชื่อและโลโก้ของสามธุรกิจของผม
ร้านเบเกอรี่ ผมจะตั้งว่า ร้านอิ่มเค้ก เพราะผมชื่อว่าขายสินค้าเน้นเค้กเป็นหลัก สั้น จำง่าย สื่อถึงลักษณะธุรกิจด้วย และยังแฝงกลินอายความอร่อยของเค้กในร้านด้วยว่า ถ้ามาต้องอิ่มแน่

บริษัททัวร์ ผมจะตั้งชื่อว่า ทัวร์ไท เพื่อสื่อว่าผมทำธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศเป็นหลัก เป็นทางการนิดๆ และสามารถเขียนภาษาอังกฤษแล้วฝรั่งจำง่าย (Tour Tai) สื่อออกมาว่าเที่ยวแบบไท ไท หรือแบบอิสระเสรีตามความต้องการของลูกค้า

อู่ซ่อมรถ ผมขอตั้งว่า อู่นายช่าง สื่อว่าเราเป็นนายช่างใหญ่ ฟังแล้วเกิดความเชื่อถือ ส่วนใหญ่อู่ในท้องถิ่นมักเอาชื่อตัวเองมาตั้งเพื่อให้คนจำง่าย พวก B-quick หรือ A.C.T. คนต่างจังหวัดมักไม่เข้าหรอก เพราะจำยาก

นี่ก็เป็นการสร้างเฮาส์แบรนด์หรือผมเรียกว่า แบรนด์บ้านๆ หรือ แบรนด์ท้องถิ่นที่สามารถสร้างและให้ติดหูติดตาคนได้ง่าย ลองเอาประยุกต์ใช้ดูแล้วกันนะครับ ผมหวังว่าคงเป็นปะโยชน์ไม่มาหก็น้อย


งวดหน้า (ไม่ขอระบุวันแล้วกันแต่เร็วๆนี้แน่) เจอกันกับเรื่อง "การวางตำแหน่งที่ตั้งธุรกิจ (Business Location) เรื่องสำคัญที่คุณยังนึกไม่ถึง ลองติดตามกันนะครับ

วันเสาร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2554

โชห่วย, "ไม่สู้หรือสู้จนตาย"

ได้ฤกษ์กลับมาเขียนบทความอีกครั้ง หลังจากช่วงที่ผ่านมามีงานเข้า เล่นเอาเหนื่อยพอตัว ประกอบกับการเข้าไปศึกษาเรื่อง SEO (Search Engine Optimization) หรือพูดง่ายๆคือการทำให้เว็บไซต์ของเราอยู่ในหน้าแรกของ Search Engine ไว้ถ้าทำสำเร็จเมื่อไหร่จะเอามาเขียนให้อ่านอย่างแน่นอน เพราะผมได้ต่อยอดไปสู่ SEM - Search Engine Marketing หรือการตลาดผ่าน search engine

วันนี้ตามสัญญาจากบทความที่แล้วที่่ว่าจะเขียนถึงหนทางช่วยเหลือโ๙ห่วยต่อสู้กับค้าปลีกขนาดเล็กอย่าง บิ๊กซี จูเนียร์ หรือ โลตัสเอ็กซ์เพลส รวมถึงสะดวกซื้ออย่าง 7-11 วันนี้ผมขอเอาใจช่วยโชห่วยไทย

เริ่มต้นกันเลย

1. สำรวจตัวเองก่อน ก่อนอื่นเรามามองตัวเองก่อนว่าอะไรทำให้ลูกค้าไม่เข้าร้านเรา โดยการทำ SWOT หรือการวิเคราะห์ภายในและภายนอกร้านของเรา หาจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสที่จะเกิดขึ้นและภัยคุกคามที่สามารถเกิดขึ้นกับร้านคุณได้ ตัวอย่างเช่น การหาจุดแข็ง ได้แก่ การมีสัมพันธไมตรกับลูกค้า ราคาสินค้าบางอย่างขายถูกกว่าที่อื่นๆ คิดเงินเร็วไม่มั่ว ฯลฯ การหาจุดอ่อน เช่น หาสินค้ายาก สินค้าขาดบ่อยๆ ร้านค้าไม่น่าเข้ามาซื้อ ฯลฯ ส่วนเรื่องโอากสนั้น ได้แก่ เรื่องที่จอดรถ ที่ตั้งของร้าน การเดินทาง อะไรทำนองนี้


2. สำรวจคู่แข่ง ใช่ครับ ผมแนะนำให้เจ้าของโชห่วยออกมาจากร้าน แล้วมุ่งไปดูคู่แข่งของคุณเช่น 7-11 โลตัสเอ็กซ์เพลส ไปดูเขาแบบว่ารู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง สิ่งที่เราจะเข้าไปดูนั้นผมขอกำหนดหัวข้อไว้ 5-6 หัวข้อนะครับ

     1) Man หรือแรงงาน ดูว่าเขามีการจัดสรรแรงงานยังไง ทำไมเปิด 24 ชั่วโมงได้ เข้ากี่กะ จำนวนเท่าใด ต้นทุนแรงงานต่อวันกี่บาทแล้วการบริการของแรงงานเป็นอย่างไร สิ่งที่เป็จนจุดบอดของพนังาน 7-11 หรือโลตัสคือการบริการ เนื่องจากว่าเป็นการจ้างแรงงานมา ซึ่งแต่ละคนก็จะมีพื้นฐานด้านมารยาทและ Service Mind ต่างกันทำให้หลายๆครั้งแรงงานของร้านสะดวกซื้อมักจะมีกริยาไม่เหมาะสม เช่น โมโห หงุดหงิดง่าย ไม่สนใจลูกค้า

     2) Machine หรือเครื่องมืออุปกรณ์ ข้อดีของร้านพวกนี้คือการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดการทั้งการเงิน สินค้าคงเหลือ ซึ่งร้านโชห่วยเองจะมีจุดอ่อนทางด้านนี้ค่อนข้างมาก ซึ่งจะต้องนำมาประยุกต์ เช่น ร้านสะดวกซื้อนั้นมีระบบบาร์โค้ดเอาไว้ในการจัดการด้านการเงิน ซึ่งถามว่าโชห่วยทำได้มั้ย ผมตอบเลยว่าได้ แต่การลงทุนครั้งแรกมันสูง หลายๆผู้ประกอบการนั้นจะเห็นว่าเป็นเงินค่อนข้างสูง แต่ลองมองระยะยาวจะรู้ว่ามันคุ้มมาก ซึ่งเดี๋ยวนี้ราคาระบบบาร์โค้ดนั้นราคาถูกลงมาก หรือถ้าหากไม่อยากใช้ระบบบาร์โค้ด ผมแนะนำว่าใช้แค่การแปะป้ายบอกราคาสินค้าให้ครบก็พอ เพราะหลายๆครั้งร้านโชห่วยนั้นจะมั่วมากกับราคาสินค้า ซึ่งการแปะราคาสินค้าจะช่วยให้การคิดเงินเร็วขึ้น แต่ผมบอกไว้ก่อนเลยว่าท่ายหลีกหนีเทคโนโลยีไม่พ้นหรอก เพราะอย่างห้องวอลมาร์ท นั้นใช้การแสกนสินค้าด้วย RFID  ซึ่งทำให้ใช้แรงงานในการคิดเงินน้อยลง ทำให้ลดต้นทุนด้านแรงงานลงไปได้มากและถูกต้องในการคิดราคาด้วย

     3) Method หรือวิธีการ ในที่นี้ผมหมายถึงการดำเนินธุรกิจตั้งแต่การนำสินค้าเข้าร้านจนถึงการใส่ถุงกลับบ้าน เนื่องจากร้านค้าปลีกขนาดใหญ่จะได้เปรียบเราในต้นทุนสินค้าที่ถูกมากๆ (ขูดเลือดจากผู้ผลิตมา) ดังนั้นเราต้องมองให้มันเป็นโอกาสของเรา เช่น เรารู้ว่าพวกร้านใหญ่ซื้อมาจากผู้ผลิตรายใหญ่ๆมา เราก็ไปหาผู้ผลิตขนาดเล็ก ซึ่งมีมากมาย ลองคุยดู ผมเชื่อว่าเรายอมขายในราคาถูกแน่ เพราะเขาก็ต้องการช่องทางการจัดจำหน่ายเหมือนกัน ตลอดจนการทำการตลาดของร้านโชห่วย บางครั้งเราอยู่ในมุมอับมากเกินไป ทำให้คนไม่ค่อยรู้จักมาก ดังนั้นเราต้องโปรโมตตัวเองให้คนในสังคมรู้ว่าเราขายของ เรามีตัวตน เราขายของไม่แพง เรามีร้านน่าเข้า การโฆษณาผ่านป้ายตามจุดต่างให้คนทั่วไปได้รู้ อะไรทำนองนี้ ในส่วนการขายนั้นโชห่วยจะมีจุดบอดด้านการจัดวางหรือการนำเสนอสินค้า ซึ่งเราต้องกลับมาปรับที่ตัวเราเอง เช่น จัดวางเป็นหมวดหมู่ นำเสนอสินค้ายอดนิยมให้คนเห็นได้ชัด อย่างนี้เป็นต้น

     4) Material ซึ่งหมายถึงวัตถุดิบ ซึ่งก็คือสินค้าที่เรานำมาขายนั้นเอง ซึ่งตรงนี้ล่ะเราสามารถนำมาสร้างความแตกต่างได้ เช่น ถ้าแถวท้องถิ่นนั้นมีสินค้าโอทอปที่เกี่ยวกับของอุปโภคบริโภคมาก เราก็ไปนำมาตั้งขายได้ สร้างความหลากหลายให้กับร้าน เพราะไม่จำเป็นต้องลงทุน สามารตกลงเป็นสินค้าฝากขายได้

3. ปรับปรุงตัว ปรับปรุงกลยุทธ์ หลังจากที่เรามองดูตัวเองหาจุดเด่น จุดด้อยแล้ว มองดูคู่แข่งเพื่อหาข้อเปรียบเทียบกับธุรกิจของเรา แล้วเราก็นำจุดบอดของเขามาใส่ไว้ในธุรกิจเรา เท่านี้เราก็สามารถต่อสู้กับร้านค้าขนาดใหญ่ได้แล้ว

นี่ก็เป็นหลักการคร่าวๆที่ผมขอแนะนำโชห่วยไทยแลนด์ทั้งหลาย ลองเอาแนวคิดคร่าวๆไปปรับดูนะครับ ซึ่งอย่างน้อยก็น่าจะพอทำให้ธุรกิจของคุณดีขึ้น อาจจะ "สู้เขาไม่ได้ หรือจะยอมอยู่อย่างซังกะตายล่ะ" ใช่มั้ย

วันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2554

ใครทำลายโชห่วย

ใครทำลายโชห่วย


หัวข้อวันนี้ถือว่าอาจจะแรงในคำพูด แต่ถ้าตอนนี้ไม่พูดถึงไม่ได้เพราะตอนนี้นั้น ห้างค้าปลีกเล็กใหญ่อัดกระหน่ำ แปลงร่างเป็นเอ็กตร้ากันเป็นแถว รวมถึงซุปเปอร์มาร์เก็ตติดแอร์อย่างท๊อปส์และฟู๊ดแลนด์ก็เริ่มรุกคืบกลุ่มตลาดของตน รวมถึงการรุกคืบของเจ้าพ่อร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-11 ที่ตอนนี้น่าจะใกล้เคียง 10,000 สาขาเข้าไปทุกทีแล้ว ซึ่งถ้าถามว่าการเจริญเติบโตงอกงามของทั้งค้าปลีกทั้งเล็กทั้งใหญ่ รวมทั้งร้านสะดวกซื้อที่แทบจะกวาดพวก 108 Shop หรือ Fresh Mart ตกขอบไป หรือห้างค้าส่งอย่าง Makro 




ถ้าถามผมว่าใครทำโชห่วยร่วงเป็นใบไม้ร่วง ผมตอบได้เลยคำเดียวว่า 7-11 นี่ล่ะตัวดี เพราะตอนนี้กฎหมายการเปิดค้าปลีกขนาดใหญ่นั้นถูกจำกัดด้วยระยะทางจากชุมชน ทำให้ค้าปลีกขนาดใหญ่อย่างบิ๊กซีและโลตัสต้องปรับกลยุทธ์เป็นบิ๊กซีจูเนียร์ โลตัสเอ็กเพลส เพื่อหาช่องทางหลบกฎหมายมาชนกันตามร้านขนาดเล็ก ซึ่งพี่เบิ้มอย่าง 7-11 ก็กระอักเพราะกลายเป็นยักษ์กำลังลงมารุมกินโต๊ะ


สถานกราณ์ตอนนี้ ขอพูดระดับบิ๊กๆเขาฟัดกันนะครับ




7-11 ปรับกลยุทธ์สู้บิ๊กซีจูเนียร์และโลตัสเอกซ์เพลส ที่เปิดสาขาจี้ก้น ชนิดประตูชนประตู โดยยอมสละกลุ่มลูกค้าเครื่องอุปโภคไปให้สองพี่เบิ้มฟัดกันเอง โดยสร้างจุดขายคือ "อิ่มสะดวก" ขายของบริโภคการกินแทน


ในส่วนของค้าปลีกขนาดใหญ่ตอนนี้ก็ระดมทุนกันเปิดชนกันจังหวัดต่อจังหวัด ถ้าอำเภอไหนเจริญๆก็เปิดด้วย อย่างสามชุก สุพรรณบุรี อำเภอเงียบๆเล็กๆกลับมีโลตัสเบ้อเริ่มไปตั้งซะงั้น แต่ก็ถูกตีวงด้วยกฎหมายทำให้ไปไล่ฟัดกันชานเมืองแต่ก็ดุน่าดู






แม็คโคร ท่านนี้ก็ยังคงถือคติครองใจโชห่วย โดยประกาศตนเลยว่าเป็น "มิตรกับโชว์ห่วย" จัดงานให้โชห่วยทั้งประเทศมาออกบู๊ทกันเป็นแถว


ร้านโชห่วยที่อยู่ตามชุมชนต่างๆ มีพฤติกรรมการขายที่เน้นพวกสินค้าอุปโภค เช่น แฟ้บ สบู่ น้ำมันพืช อะไรทำนองนี้ ซึ่งจะเน้นขายขวดขนาดกลางๆ ที่ลูกค้าจะแวะมาซื้อยามฉุกเฉิน สินค้าบริโภคก็เป็นพวกเหล้า น้ำดื่มเย็นๆ หรือไม่ก็พวกบัตรเติมเงิน






หลังจากรู้พฤติกรรมโชห่วยกันมาแล้ว มาดูกันว่า 7-11 นั้นทำลายโชห่วยยังไง ไม่ต้องพูดถึงเลย ตรงไหนมีชุมชน ตรงนั้นมีโชห่วยและ 7-11 ซึ่งใครๆก็ต้องเข้า 7-11 อยู่แล้วเพราะติดแอร์น่าเดินกว่า ต่อให้โชห่วยปรับเปลี่ยนยังไงก็ยากจะเทียมทานได้ ยิ่งสินค้าบริโภคที่ 7-11 เน้นอยู่แล้วทั้งเหล้า เบียร์ โค้ก เป๊บซี่ สารพัดชาเขียวที่ลงกันเต็มตู้ ทำให้โชห่วยนั้นสูญเสียรายได้ตรงนี้ไปพอสมควร ซึ่งพวกนี้นั้นมีส่วนต่างหรือ Margin สูงมากๆ เล่นเอาสะเทือนกันเลยทีเดียว


อีกอย่างตอนนี้ผู้ผลิตมักไม่นำของไปขายตามร้านธรรมดาแล้ว โดยจะเน้นขายตาม 7-11 อย่างเดียว สังเกตได้จากโฆษณาตามโทรทัศน์ที่จะแปะโลโก้ของ 7-11 ไปด้วย ซึ่งหมายความว่าหาซื้อได้ที่ 7-11 แน่นอน


จากปริมาณและกลยุทธ์ "อิ่มสะดวก" รวมถึงการยึดหัวหาดตามชุมชนของ 7-11 จะทำให้ร้านโชห่วยที่เปิดอยู่ดั้งเดิมสะเทือนไปมากพอควร อาจจะไม่ทำลายให้พินาศ แต่ก็อาจจะอยู่ไม่ได้


พรุ่งนี้ ชาวโชห่วยไม่ต้องกลัวอีกต่อไป เพราะ SMEfriend จะขนกลยุทธ์ที่เอาไว้ชนกับ 7-11 ที่สามารถประคองให้เรารอดจากน่านน้ำสีแดง (Red Ocean) นี้ได้

วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

ธุรกิจผสมผสานเทคโนโลยี ภาคปฏิบัติ

ธุรกิจผสมผสานเทคโนโลยี ภาคปฏิบัติ

เมื่อวานผมต้องขอโทษจริงๆจากการที่เว้นว่างไปหนึ่งวัน โดยเมื่อวานไม่มีแรงพิมพ์บทความจริงๆ ทั้งๆที่มีอะไรในหัวเยอะแยะไปหมด วันนี้ขอจัดสองบทความชดเชยเมื่อวานด้วยแล้วกัน

ต่อจากความเดิมเรื่องการนำเทคโนโลยี ไม่ว่าจะแบบมีสายหรือไร้สายมาใช้เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ เพราะเดี๋ยวอะไรต้องเร็ว ต้องไว ตอยสนองลูกค้าให้ได้ทันทีหรือฝรั่งเขาเรียกว่า Customer Responsibility เอาล่ะตามที่สัญญาไว้ว่าจะเอาเรื่อง case study ที่ธุรกิจ SME เขาเอาเทคโนโลยีใช้อย่างจริงจัง เราไปดูว่า เขาใช้อะไร ทำไม อย่างไร ผลเป็นแบบไหน

ผมขอยกตัวอย่างธุรกิจสุดฮิตของครอบครัวที่นำเอาเทคโนโลยีมาใช้มาตั้งแต่ธุรกิจตั้งใหม่ๆ นั่นคือ

MK สุกี้ นั่นเอง
ผมว่าคนไทยหกสิบกว่าล้านคน คงมีสักเกิน 40% ที่เคยลิ้มลองสุกี้หม้อไฟฟ้าสีแดงตามห้างสรรพสินค้า MK สุกี้ เปิดธุรกิจมาเกือบยี่สิบปีแล้ว (มั้ง) แต่สิ่งที่ผมเห็นตั้งแต่ได้กินครั้งแรกคือ การนำเอา PDA หรือ Personal Digital Assistance แปลตามตัวคือเครื่องมือช่วยเหลือส่วนตัว หรือคอมพิวเตอร์มือถือนั่นเอง ซึ่งประโยชน์ของมันคือเหมือนออแกนไนเซอร์ประจำตัว สามารถจดโน่นนี่ เปิดไฟล์เอกสาร ส่งอีเมล รับโทรศัพท์ได้เหมือนมือถือ + คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค (ขอเกริ่นแนะนำสำหรับคนที่ไม่รู้จัก) เอ็มเคใช้พีดีเอมาใข้ในการจดข้อมูลการสั่งอาหารของลูกค้าผ่านระบบไวไฟเข้าฐานข้อมูลทำให้ได้ผลการสั่งอาหารที่ถูกต้อง (ถ้าคีย์ไม่ผิด) ครบจำนวน รวดเร็วและสามารถนำไปใช้ในการเตรียมวัตถุดิบได้ด้วย โดยลงทุนสร้างฐานข้อมูลสินค้าและสร้างระบบ พร้อมลงทุนซื้อพีดีเอให้พนักงานใช้ทุกคน ซึ่งถือว่าเป็นการลงทุนทีคุ้มค่า เพราะระบบนี้ก็ยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งผมจะอธิบายเป็น Flow Chart ง่ายๆให้ดู

1. พนักงานคีย์สินค้าเข้าไปในพีดีเอ เช่น เป็ดย่างจานใหญ่กับหมี่ผักอย่างละสองจาน
ภาพตัวอย่างการทำระบบของ MK อาจไม่เหมือนที่ใกล้เคียงมากเลย

2. ข้อมูลการสั่งเข้าไปในระบบ ถูกส่งไปสองทางคือ
2.1 พนักงานจัดเตรียม >>> รับคำสั่งคือเป็ดย่าง และ หมีผัก อย่างละสองจาน โดยเป็นการปริ๊นท์กระดาษออกมา สองใบ ใบหนึ่งให้แผนกเตรียม อีกใบให้แผนกเสิร์ฟ
2.2 เข้าฐานข้อมูลเพื่อเช็คสต๊อกว่า หลังจากลูกค้าสั่งไปแล้ว เป็ดย่างจานใหญ่ หมี่ผัก จะเหลืออยู่เท่าไหร่ สามารถดูปริมาณจากคอมพิวเตอร์ได้ เผลอถ้าสินค้าเหลือต่ำกว่าปริมาณสินค้าคงเหลือขั้นต่ำ (Min. Inventory) ก็จะมีสัญญาณเตือน รวมถึงส่งข้อมูลส่งไปที่สำนักงานใหญ่ส่งเป็ดและหมี่ผักเข้ามาผ่านรถขนส่ง
2.3 รายการการสั่งนำส่งบัญชีเพื่อรอเช็คบิล คอมพิวเตอร์จะทำการคำนวณราคาจากที่ลูกค้าสั่ง คือ เป็ดย่างสองและหมี่ผักสอง รวม 500 บาท (สมมติ)

ภาพนี้ก็เป็นอีกแบบหนึ่งที่ใกล้เคียงแต่จะเหมาะกับธุรกิจขนาดใหญ่มากกว่า

3. จากข้อ 2.1 พนักงานจัดเป็ดและหมี่ผักให้พนักงานเสิร์ฟ
4. จากข้อ 2.2 พนักงานที่สำนักงานใหญ่เช็คสต๊อกทุกสาขาผ่านจอคอมพิวเตอร์ แล้วเตรียมส่งของออกไป โดยมีการวางแผนการขนส่งที่คุ้มค่าที่สุด (optimization logistic)
5. จากข้อ 2.3 หลังจากลูกค้าเช็คบิล พนักงานก็คีย์แจ้งที่เคาเตอร์แล้วเคาเตอร์ก็ปรินท์ใบเสร็จออกมา โดยที่ไม่ต้องเสียเวลามาดีดลูกคิดคำนวณอะไรเลย

นี่ก็เป็นตัวอย่างประโยชน์ของการทำระบบโดยเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ โดยที่ลดความผิดพลาดจากการสั่งและการคิดเงิน ซึ่งสร้างความสะดวกและสร้าง value หรือมูลค่าให้กับธุรกิจได้ และยังสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อลูกค้าด้วย


นี่ก็เป็นตัวอย่างง่ายๆของการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ ความจริงแล้วยังมีอีกหลายองค์กรที่เอามาใช้เช่น 7-11 เอาระบบบาร์โค้ดมาใช้ในการจัดการสินค้าคงเหลือโดยที่พนักงานไม่ต้องเสียเวลามานั่งนับทีละชิ้นๆ

สำหรับวันนี้ก็พอหอมปากหอมคอนะครับ พบกันใหม่บทความหน้านะครับ

วันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2554

ธุรกิจผสมผสานเทคโนโลยี

ธุรกิจผสมผสานเทคโนโลยี

วันนี้ชื่อหัวข้อบทความ อาจจะดูห่างไกลตัวไปหน่อย แต่ไม่ต้องกลัวเพราะผมจะค่อยๆอธิบายเอาให้กระจ่างไปเลย ถ้าไม่เข้าใจก็ต่อวันพรุ่งนี้ได้

วันนี้เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับธุรกิจมาก ต่อให้เราจะหลีกเลี่ยงไปทางไหนก็หนีไม่พ้น เพราะตอนนี้เราไม่ได้มีแค่เครื่องจักร แรงงาน วัตถุดิบเท่านั้นที่เป็นต้นทุนของธุรกิจ แต่เรื่องเทคโนโลยีนั้นเริ่มเข้ามามากขึ้นจนจะกลายเป็นต้นทุนสำคัญไปแล้วในอนาคต เราลองมายกตัวอย่างเทคโนโลยีง่ายๆว่ามีอะไรเกี่ยวข้องกับเราบ้าง โดยผมจะยกเอาเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก และเล็กมาก ซึ่งเพื่อเอาไปต่อยอดให้ธุรกิจก้าวหน้ามากขึ้น



โทรศัพท์ ได้แก่ โทรศัพท์ธรรมดาและโทรศัพท์มือถือ อันนี้เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานของธุรกิจเลย เพราะเชื่อเหอะไม่วาธุรกิจขนาดเล็กเช่น ร้านกาแฟ ร้านก๋วยเตี๋ยว จนถึงขนาดกลางเช่น โรงงานทำลูกชิ้น นั้นจะต้องมีโทรศัพท์เพื่อสื่อสารกับภายนอกและภายใน ทั้งติดต่อผู้ซื้อ ผู้ขาย ติดต่อพนักงาน แต่ผมจะย้ำก็คือ การทำเบอร์ Hot-Line สายด่วนเพื่อลูกค้า โดยที่ไม่ไปยุ่งกับเบอร์ปกติที่ใช้กัน เพราะเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าโดยตรง เช่น ร้านขายกล้วยปิ้งมีเบอร์เฉพาะสำหรับลูกค้าสั่งล่วงหน้าโดยเฉพาะ (ไม่ใช้ปนกับเบอร์ส่วนตัว) โดยอาจจะเป็นเบอร์มือถือหรือเบอร์บ้านก็ได้แล้วแต่ความสะดวก โดยอันนี้ผมรวมถึงเบอร์แฟกซ์ด้วยนะครับ ส่วนใครที่มีพื้นที่เว็บเป็นอีเมลของตัวเองก็ใช้ไปนะครับ (เช่น xxx@YYY.com)



อีเมล เรื่องอีเมลนั้นตอนนี้ได้เข้ามามีบทบามอย่างมากกับธุรกิขจเพราะโทรศัพท์นั้นส่งเอกสารไม่ได้ (ในกรณีไม่มีโทรสารหรือแฟ็กซ์) เชื่อเถอะว่าคุณหนีไม่พื้นหรอก เช่น เอาไว้รับ-ส่งเอกสารคำสั่งซื้อ เอกสารใบเสนอราคาของ supplier หรือเอาไว้คุยผ่าน facebook หรือ twitter ยังไงก็ต้องมีอีเมล แต่ที่ผมจะเน้นนั้นคือการเปิดอีเมล ถ้าใครยังไม่มีอีเมลเป็นของตัวเอง ผมแนะนำให้ไปจดทะเบียนกับผู้ให้บริการอีเมลฟรี ที่ผมแนะนำเลยคือ GMail ของ Google เพราะตอนนี้ Google ได้ครองเมืองแล้ว อะไรๆที่เป็นประโยชน์ในอินเตอร์เน็ตนั้น Google ซื้อเก็บไว้หมด ทั้ง Youtube, Blogger ซึ่งเมื่อสมัคร account ของ GMail แล้ว ก็จะเป็นจะเป็น account ของ Google ไปในตัวด้วย ซึ่งในอนาคตหากทำธุรกิจออนไลน์แล้ว account ของ Google นั้นมีความจำเป็นได้

เว็บไซต์ ถ้าคุณอยากให้ทั้งโลกรู้จักธุรกิจคุณ การทำเว็บไซต์ธุรกิจนั้นมีความสำคัญมาก ทั้งเว็บไซต์ทำเอง หรือเว็บไซต์จากผู้ให้บริการฟรี เช่น Blogger หรือ Wordpress ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็ทำได้ไม่ยาก โทรไหาผู้ให้บริการ ค่าโดเมน+พื้นที่ ก็ไม่เกิน 3,000 บาทต่อปี (ขึ้นอยู่กับคุณภาพ) จะจ้างเขาทำเว็บหรือทำเองก็มีโปรแกรมช่วย ซึ่งถ้าใครอยากขยายฐานลูกค้าไปให้กว้างออกไป ผมแนะนำให้เริ่มเลย ยิ่งในเรื่องของการทำการตลาดผ่านทาง SEO (Search Engine Optimization) ซึ่งชื่อโดเมน (www.xxxyyy.com) นั้นมีความสำคัญมาก ถ้าตั้งชื่อดีคนทั้งโลกก็เห็นเราได้ง่ายขึ้น


อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ อันนี้จะเริ่มมีต้นทุนเข้ามาเกี่ยวข้องล่ะ ผมยกตัวอย่างธุรกิจที่นำเอาเทคโนโลยีรเข้ามาเกี่ยวข้องคือ MK สุกี้ จะเห็นได้ว่า MK นั้นได้เอา PDA หรือคอมฯมือถือมาใช้ในการจดบันทึกออร์เดอร์ของลูกค้า ทำให้ได้รับข้อมูลและจัดสรรทรัพยากรได้ง่าย รวมถึงการควบคุมสต๊อกสินค้าให้ง่ายขึ้น ซึ่งเดี๋ยวนี้ร้านก๋วยเตี๋ยวแถวพุทธมณฑลก็เอามาใช้แล้ว หรือไม่ก็การนำระบบบาร์โค้ดเข้ามาใช้ของโลตัส บิ๊กซีหรือ 7-11 ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถสั่งของเข้ามาร้านได้ทันเวลา ไม่ต้องสต๊อกของเยอะ หรือการนำเอาคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คมาใช้ในการจูนเครื่องรถยนต์ติดแก๊ส ซึ่งจะทำให้ได้ความเชื่อมั่นจากลูกค้ามากขึ้น


วันนี้ก็เอาพอหอมปากหอมคอ พรุ่งนี้จะเป็นการยกตัวอย่างในชีวิตประจำวันที่ธุรกิจได้นำเทคโนโลยีมาใช้ โดยผมจะหาตัวอย่าง SMEs ที่ใช้แล้วได้ผมมาเล่าให้ฟัง

วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2554

ขั้นตอนการนำเสนอธุรกิจ

ขั้นตอนการนำเสนอธุรกิจ

วันนี้ขอมาแบบวิชาการนิดส์นึงแต่ไม่มากเท่าไหร่ พอดีวันนี้ได้ไปนำเสนอขายงานให้ลูกค้า ก็เลยเอาประสบการณ์มาแชร์ให้ฟัง เพราะมันไม่ใช่แค่เอาของไปขายแล้วก็กลับ ถ้าอย่างนั้นก็เหมือนเด็กฝึกงานไปทำงาน มันมีอะไรลึกซึ้งมากกว่านั้น ลองมาดูว่าจะต้องทำยังไงกันบ้าง

1. ทำการบ้าน... การบ้านที่ว่าไม่ใช่การบ้านอะไรเหมือนนักเรียนทำกันหรอก ข้อนี้เพียงอยากจะบอกว่า ต้องเตรียมข้อมูลในเรื่องของลูกค้าและสินค้าที่นำไปขาย ง่ายๆคือ ด้านลูกค้า ต้องรู้เบื้องลึกหนาบางของลูกค้าว่าทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ถึงไหนแล้ว อนาคตจะไปอย่างไร เพื่อกลับมองมองสินค้าเราว่าจะตอบสนองอะไรให้กับลูกค้าบ้าง ต่อมาคือศึกษาสินค้าของเราเอง บางคนชะล่าใจไม่ได้ทำข้อมูลให้ลึก เพราะอย่าลืมว่าลูกค้าอาจรู้ดีกว่าเราก็ได้ ดังนั้นเราต้องรู้ถึงให้ถึงแก่นของสินค้าที่คิดว่าลูกค้าไม่สามารถรู้ได้ และจะต้องทำการปรับเปลี่ยน (modified) สินค้า (ถ้าปรับได้นะครับ) เพื่อให้ตอบสนองลูกค้าในขั้นต้น เพื่อเวลาไปนำเสนอจะได้เข้าเรื่องได้ไม่ยาก

2. เมื่อพบกัน กิริยามารยาทต้องเป๊ะ อย่าพลาด การใช้สรรพนามให้ถูกนั้นสำคัญ จะเรียก "พี่" เรียก "คุณ" เอาให้ชัวร์ ดูอาการของลูกค้าด้วย
2.1 ต้องให้ลูกค้าพูดจบก่อน อย่าพูดสอด จดจำคำพูดของลูกค้าว่าเขาต้องการอะไร ที่ไหน อย่างไร ทำไม ฯลฯ ถ้าจำไม่ได้ก็ต้องจด อย่าพลาดลืม จดหรือจำแล้วต้องคิดหาทางออกตาม ว่าลูกค้าอยากได้อะไร อยากทำที่ไหน เมื่อไหร่ ต้องมีคำตอบ
2.2 พูดต่อจากลูกค้า เอาข้อมูลจากข้อ 2.1 มาเรียบเรียงและพูดอธิบายพร้อมกับข้อมูลที่เตรียมมา ปรับเปลี่ยนอัตโนมัติให้สอดคล้องกับสถานการณ์ (ประสบการณ์และความสามารถของแต่ละคน) พูดนำเสนอ อย่าติดขัด อย่าพลาดเรื่องข้อมูล เพราะลูกค้าอาจรู้มากกว่า

3. พูดขมวดปม หลังจากคุยเสร็จสรรพ เราต้องขมวดปมทั้งหมดทั้งวันที่คุยกันมา เหมือนสรุปรายงานหรือผลการทดลอง เอาเนื้อๆที่สำคัญ ถ้าพูดเป็นลูกค้าจะแค่พยักหน้า (แปลว่าเขาพอใจและเข้าใจ) และก็นำสรุปที่พูดไว้ไปทำงานต่อ

4. ปิดการขาย ถามลูกค้าว่า "โอเคมั้ย ถ้าตกลงอย่างนี้" ถ้าลูกค้าโอเคก็จบ ถ้าไม่ก็กลับไปทำข้อ 2.1, 2.2 และ 3 ใหม่

5. ก่อนจาก ทิ้งทวนคำพูดหยอกล้อเล็กน้อยเกี่ยวกับธุรกิจ เช่น ช่วงนี้เป็นไงบ้าง สบายดีมั้ย แต่อย่าทะลึ่งไปถามเรื่องส่วนตัวมาก

นี่ก็เป็นตัวอย่างเล็กๆสำหรับการแชร์ประสบการณ์เล็กๆน้อยๆ ผมว่าของผมนี่ก็เป็นแค่ตัวอย่างๆหนึ่ง ใครมีอะไรเสริมก็เพิ่มเติมมาได้นะครับ

ศุกร์นี้ขอเบาๆล่ะกัน พรุ่งนี้จัดหนักเรื่องไอทีกับธุรกิจนั้นสำคัญขนาดไหน ลองติดตามดู

วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2554

มากกว่าแค่รถคันแรก

มากกว่าแค่รถคันแรก...


คลอดออกมาเรียบร้อยสำหรับครม.ยุคเพื่อไทยใหม่ของพณฯท่านนายกยิ่งลักษณ์กับนโยบาย "ลดภาษีรถคันแรก" ซึ่งเรียกเสียงฮือฮากับทั้งผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ รถยนต์ห้ามเกิน 1,500 ซีซี (แจ๊ซ บริโอ้ มาร์ช มาสด้า2 ซิตี้ อวีโอ ฯลฯ ผมขอเอ่ยมาก) และรถกระบะราคาไม่เกินหนึ่งล้านบาท (ซึ่งร้อยทั้งร้อยไม่เกินแน่ๆ) ซึ่งผมไม่ขอลงรายะลเอียดแล้วกันเพราะ การวิพากษ์วิจารณ์นโยบายรัฐบาลไม่ใช่หน้าที่ของ SMEfriend แต่ถ้ามันคลอดออกมาแล้ว เรามาดูช่องทางทำมาหากินกันดีกว่า ว่าเราจะอาศัยแบ่งเค้กก้อนนี้อะไรได้บ้าง


สิ่งที่ควรคำนึง

ไม่ได้ร่ำรวย ผลิตรถเอง
ใช่ครับ เราไม่ได้ผู้ผลิตรถยนต์และคงไม่มีเงินทุนจะสร้างโรงประกอบรถ

นโยบายมายังไง ไปทางนั้น
ใช่อีกล่ะครับ เราไม่ใช่ครม. รัฐมนตรีกำหนดนโยบาย ฉะนั้นเราก็ต้องตามน้ำไป

หลังจากนั้นเรามาโอกาส (Opportunities) ของนโยบายนี้ดีกว่า ว่าธุรกิจอะไรจะพอเอี่ยวไปกับเขาได้บ้าง


1. ธุรกิจประดับยนต์ อ่า!!! ใช่เลยครับ ซื้อรถใหม่ก็ต้องทำอะไรใหม่ ธุรกิจประดับยนต์ก็มีส่วนเอี่ยวแน่นอน เช่น ฟิล์มติดรถ เครื่องเสียง (สำหรับพวกชอบจัดหนัก) กรอบป้ายทะเบียน เตรียมสต๊อกของไว้ได้เลย รายได้มาแน่ อย่างน้อยรถใหม่ก็เพิ่มขึ้น เตรียมจัดโปรโมชั่นพวกเครื่องเสียงครบชุด ติดฟิล์มอะไรทำนองนี้ได้เลย


2. ธุรกิจประกันรถ โหย!!! อันนี้ของตาย ยังไงใครก็ต้องทำประกัน ทั้งประกันชั้น 1 ทั้งประกันชั้น 3 พรบ.รถยนต์ตามมาติดๆ ถ้าใครยังไม่มีงานทำ ก็ลองไปเป็นตัวแทนขายประกันดูก็ได้ เตรียมจัดโปรแถมของแถมไว้แต่เนิ่น



3. ธุรกิจคาร์แคร์ ครับ มาแน่ครับ จากแต่ก่อนเคยมีลูกค้าเท่าไหร่ ผมว่าเตรียมเผื่อเพิ่มอีกสัก 20% ได้เลย ทั้งการเคลือบสี การล้าง (พวกรถใหม่อยากให้รถเงาอยู่แล้ว) ยิ่งตอนนี้ฝนมา เชื่อผมเถอะพวกรถใหม่ยิ่งเข้าคาร์แคร์อยู่แล้ว


4. ปั๊มน้ำมัน ปั๊มแก๊ส ร้านรับติดแก๊สแอลพีจี เอ็นจีวี เพราะตราบใดทีน้ำมันยังสูงอยู่อย่างนี้ ยังไงก็จะมีพวกซื้อรถใหม่เอามาติดแก๊สแน่นอน และด้วยปริมาณรถที่เพิ่มขึ้นก็ย่อมมีรถเข้ามาใช้บริการปั๊มเพิ่มเป็นเรื่องธรรมดา เตรียมสต๊อกถังไว้นะครับ


5. ธุรกิจสอนขับรถ อย่าคิดว่าจะไม่มีเอี่ยวนะครับ เพราะผมเชื่อว่าคนซื้อรถบางคนซื้อมาแล้วยังขับไม่เป็นก็ยังมี เตรียมทำแพ็คเกจขับเร็วภายในสองวันได้เลย

นี่ก็เป็นเพียงบางส่วนสำหรับธุรกิจที่จะมีเอี่ยวในงานนี้ ซึ่งแนวโน้มจะเป็นอย่างไรก็รอ 1 ตุลาคมนี้


สำหรับวันนี้ผมขอพอแค่นี้ก่อน พรุ่งนี้จะเป็นเรื่องอะไรก็ติดตามผ่าน facebook ของ SMEfriend นะครับ

วันพุธที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2554

CSR กลยุทธ์สร้างภาพลักษณ์องค์กร (ต่อจากเมื่อวาน)

CSR กลยุทธ์สร้างภาพลักษณ์องค์กร


ต่อจากเมื่อวานที่ได้เขียนถึงสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมหรือที่ชอบเรียกกันว่า CSR ไปสองบริษัท
แล้วซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการ เพื่อให้มองเห็นภาพว่าแต่ละองค์กรเขามีการจัดการด้านนี้กันอย่างไรอย่าง SCCC หรือปูนนครหลวงนั้นเน้นกีฬาและการช่วยเหลือชุมชนบริเวณรอบๆโรงงาน ส่วน AIS นั้นจะเน้นด้านครอบครัวในกิจกรรมสานรัก รวมถึงการจัดหาทุนการศึกษาด้วย วันนี้อย่างที่รับปากไว้ว่าจะมาชำแหละให้ครบ 5 องค์กร งั้นก่อนที่จะไปวิเคราะห์กัน ผมต้องบอกไว้ก่อนเลยว่า ที่ผมเขียนวิเคราะห์มานี้เป็นมุมมองของผมและบวกกับความรู้ที่ร่ำเรียนมาบ้าง อ่านข่าว หนังสือต่างๆมาบ้าง อาจจะไม่ตรงใจใครก็ช่วยแนะนำ เขียนคอมเมนต์มาก็ได้นะครับ ผมเปิดรับทุกความเห็น

ปตท. ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานอันดับหนึ่งของประเทศ

สืบเนื่องจากมีผู้ถือหุ้นเป็นรัฐบาลไทย (กระทรวงการคลัง) ทำให้ปตท.ต้องสร้างภาพลักษณ์ให้ดีอยู่
ตลอดเวลา หลังจากมีกระแสข่าวตั้งแต่แปรสภาพจากรัฐวิสาหกิจมาเป็นมหาชน ยิ่งมีข่าวว่ากำไรอื้อซ่า ทำให้ปตท.นั้นต้องเน้น CSR มากขึ้นๆ เนื่องจากกำไรแต่ละปีว่ากันเป็นหมื่นล้านถึงแสนล้าน ทำให้ปตท.มีงบประมาณมากมายในการทำ CSR ซึ่งสามารถแบ่งหมวดหมู่ได้ดังนี้

1. การศึกษา สร้างกิจกรรมสิ่งประดิษฐ์ มอบทุนการศึกษาถึง 300,000 บาท หรือ “โครงการเพื่อเด็กและเยาวชน ประจำปี 2554 (PTT YOUTH CAMP 2011)" โดยเป็นลักษณะการนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์ของนักเรียนทั่วประเทศ

2. ช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย "กลุ่ม ปตท. รวมใจช่วยภัยน้ำท่วมรวม 30 ล้านบาท"  สำหรับผู้ประสบภัยน้ำท่วมในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน

3. จัดกิจกรรมเพื่อความปลอดภัย “ขับขี่ปลอดภัย รักวินัยจราจรกับกลุ่ม ปตท. ประจำปี 2554 รุ่นที่ 73” โดยกิจกรรมดังกล่าวนั้นจัดมาตั้งแต่ปี 2540 ที่เน้นสร้างพฤติกรรมการขับรถให้ปลอดภัย ซึ่งกิจกรรมนี้สามารถนำไปประเมินเพื่อได้ใบอนุญาตขับขี่ได้อีกด้วย

จากกลยุทธ์และกิจกรรม CSR ที่ปตท.ได้ทำขึ้น นั้นแสดงให้เห็นว่าองค์กรนี้นั้นเน้น CSR ในทุกๆด้าน (ยังมีอีกหลายกิจกรรมไม่ได้นำมาเขียน) ซึ่งตรงกับแผนภูมิผู้ที่เกี่ยวข้องกับ CSR ซึ่งอย่างที่บอกว่าก่อนจะมาเป็นองค์กรมหาชนในปัจจุบัน อดีตปตท.เองก็เกือบเอาตัวไม่รอด (พวกจ้องล้ม) ซึ่งจึงต้องเน้นการสร้างมวลชนจากกิจกรรมที่ลงทุนไป ซึ่งถามว่าตรงนี้ผมว่าการสร้างภาพลักษณ์องค์กรที่มีธรรมาภิบาลกับกำไรมหาศาลจากราคาน้ำมันนั้นต้นทุนที่จ่ายไปเผลอๆประเมินค่าไม่ได้


รายต่อมาคือ โตโยต้า
ไม่ต้องพูดเยอะเลยกับโตโยต้าในเรื่อง CSR เพราะเราได้เห็นสปอตโฆษณามาเยอะ ทั้งถนนสีขาว (ขับขี่ปลอดภัย)  การสร้างเมืองจราจรจำลองหรือแม้กระทั่งการโปรโมตรถ "ไฮบริด" ที่บอกว่าประหยัดน้ำมัน ใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น อะไรก็ว่ากันไป


ซึ่งสรุปและฟันธงไปได้เลยว่ากลยุทธ์ต่างๆที่เอามาใช้นั้นในเชิง CSR ถือว่าได้ผลคุ้มเกินคุ้ม ไม่เชื่อลองดูจากยอดการจองรถทั้งวีโก้หรือแคมรี ไฮบริดที่มหาศาล ภาพลักษณ์ดังกล่าวถือเป็นการโปรโมตโต
โยต้า ซึ่งถือว่าทำ CSR นั้นเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของโตโยต้าเลยก็ว่าได้



สุดท้ายต้องจบด้วย เบียร์ช้าง หรือ ไทยเบฟ
กิจกรรมสุดฮอตของไทยเบฟ คือการแจกผ้าห่มต้าภัยหนาว หรือ "ไทยเบฟรวมใจ ต้านภัยหนาว" ที่เขาจัดกิจกรรมมายาวนาน ถึง 11 ปี แจกไปแล้วกว่าล้านผืน เพื่อให้พี่น้องชาวไทยทางภาคเหนือและอีสานตอนบนได้รับไออุ่นจากคนเมือง


ต้องบอกว่า 11 ปีกับกิจกรรมนี้ ซึ่งผู้ที่ได้รับประโยชน์นั้นก็คือรากหญ้าซึงสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายของเบียร์ช้างอยู่แล้ว ซึ่งกลยุทธ์ทาง CSR ด้านนี้นั้นก็ครองใจรากหญ้าเป็นที่เรียบร้อย ลองดูจากยอดขายของเบียร์ช้างที่แซงสิงห์ไปไกลแล้ว


นี่ก็ยกตัวอย่าง CSR แบบยักษ์ใหญ่เขาทำกัน ใช่ว่าธุรกิจเล็กๆจะทำไม่ได้ เราลองหัดประยุกต์ใช้ให้เข้ากับเงินทุนและรูปแบบธุรกิจของเรา ก็สามารถสร้าง CSR ของเราได้เองแล้ว

วันนี้ขอพอแค่นี้ก่อน พบกันใหม่พรุ่งนี้ แล้วติดตามผ่าน facebook ว่า SMEfriend นั้นจะมีบทความอะไรต่อไป