วันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

AEC Effects: ผลกระทบการท่องเที่ยวไทยหลัง AEC

สวัสดีพี่น้องชาว SME หรือ SMEfriend ทุกๆคน หลังจากหายไปกว่าสัปดาห์ วันนี้ก็กลับมาให้หายคิดถึงกับบทความที่ ณ ตอนนี้เมื่อดูจากสถิติของบล็อกก็ต้องเน้นไปเรื่องของ AEC หรือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งจะเกิดขึ้นใน 3 ปีข้างหน้า (2015) หรือปีพ.ศ. 2558 ซึ่งเชื่อว่าหลายล้านคนในประเทศไทยยังไม่ทราบเรื่องและก็คิดว่าเมื่อเวลามาถึงก็อาจจะงงและปรับตัวไม่ได้ ซึ่งยังไงถ้ายังไม่เข้าใจในรายละเอียดก็สามารถกลับไปหาอ่านได้จากบทความของ SMEfriend เก่าๆดูนะครับ ตามลิงค์นี้เลย


วันนี้กลับมาพูดถึงอีกครั้งเพราะเนื้อหาสำคัญของ AEC คือการเคลื่อนย้ายทุน วัตถุดิบ แรงงานได้อย่างเสรีโดยไม่มีการกีดกันระหว่าง 10 ประเทศอาเซียน สำคัญแค่ไหนไม่รู้แต่พม่าก็ยังเตรียมตัวรับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้แล้วกัน ซึ่งวันนี้จะมาพูดถึงการท่องเที่ยวซึ่งจะเป็นอุตสาหกรรมหลักของไทยที่ได้รับผลกระทบแน่นอนเพราะว่าไทยจะเป็นศูนย์กลางหรือฮับในเรื่องของการบิน ซึ่งจะทำให้มีผู้คนเข้าออกมาประเทศมากมายปีละหลายสิบล้านคน ทั้งในเรื่องของธุรกิจและการท่องเที่ยว (ทั้งในและนอกประเทศ) ซึ่งจริงๆแล้วผู้ประกอบการหลักๆในธุรกิจท่องเที่ยว เช่น ภาคบริการ โรงแรม ร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยวจะต้องปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ซึ่งไทยนั้นจะเป็นจุดกระจายของนักท่องเที่ยวคาบสมุทรอินโดจีนนี้ทั้งทางพม่า ลาว กัมพูชา มาเลเซียและสิงคโปร์


กลับมาเรื่องของท่องเที่ยวกันต่อ มองจากภาพกว้างในการเป็นฮับ ธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงและเต็มๆหลังจากที่นักท่องเที่ยวหรือผู้โดยสารลงจากสนามบินสุวรรณภูมิ ก็คือ ธุรกิจการขนส่ง เช่น แท็กซี่ รถลิมูซีน รถบัสปรับอากาศ นั้นจะได้รับอานิสงไปเต็มๆ ดังนั้นธุรกิจดังกล่าวจะต้องมีการพัฒนาและปรับปรุงในด้านของการบริการหรือ Service Mind ทั้งของพนักงานขับรถ พนักงานต้อนรับ และที่สำคัญคือในเรื่องของภาษา ที่ต่อไปภาษาอังกฤษนั้นจะมาเป็นภาษาที่มีอิทธิพลต่อการค้าขายมาก หากเกิดปัญหาการสื่อสารก็อาจจะเกิดความไม่พอใจของลูกค้าก็เป็นได้


ต่อมาคือของภาคบริการที่อยู่ในเส้นทางของการท่องเที่ยว ต้องบอกก่อนเลยว่าจะต้องแบ่งออกเป็นสองกลุ่มย่อยก็คือ
1) ภาคบริการในส่วนของเส้นทางท่องเทียวภายในประเทศ
2) ภาคบริการในส่วนของเส้นท่องท่องเที่ยวในภูมิภาค


ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบเต็มๆแต่ก็ไม่ได้แปลว่าสองเส้นทางจะเป็นเส้นเดียวกัน เพราะเป็นที่รู้ดี
ว่าการท่องเที่ยวในประเทศนั้นจะเป็นพวกแหล่งท่องเที่ยวดังๆ เช่น กทม. อยุธยา เชียงใหม่ ภูเก็ต พังงา กระบี่ ชลบุรี ซึ่งก็จะมีปริมาณนักท่องเที่ยวมากเป็นประจำอยู่แล้ว ซึ่งธุรกิจภาคบริการ ได้แก่ ที่พัก ร้านอาหาร รถเช่า ฯลฯ จะต้องมีการปรับตัวในเชิงกลยุทธ์เพื่อดึงดูดและรองรับลูกค้าเอาไว้ เพราะการที่ปรับตัวได้ก่อนและมีการยืดหยุ่นในกลยุทธ์สูงก็จะสามารถรองรับลูกค้าได้ดีกว่า ซึ่งเรื่องของการบริการและภาษายังเป็นประเด็นสำคัญมาก


ในส่วนของกลุ่มเส้นทางท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียนนั้นจะเริ่มมีการท่องเที่ยวที่คึกคักมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว เพราะไทยสามารถเข้า-ออกประเทศเพื่อนบ้านได้หลายทาง เนื่องจากมีชายแดนติดกันไม่มีทะเลขวางกั้น ซึ่งจังหวัดที่อยู่ในชายแดนที่มีช่องผ่านใหญ่ เช่น อรัญประเทศ (สระแก้ว) แม่สอด (ตาก) แม่สาย (เชียงราย) หนองคาย อะไรพวกนี้จะมีนักท่องเที่ยวที่เป็นคนละกลุ่มกับปัจจุบันเพราะต้องการเอาไทยเป็นช่องทางผ่านไปเที่ยวในประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นในเมื่อเราเป็นทางผ่านซึ่งก็จะต้องปรับตัวเองให้รองรับ หรือการดึงดูดนักท่องเที่ยวเอาไว้ให้เม็ดเงินอยู่กับประเทศไทยมาก อย่างน้อยการปรับปรุงเรื่องสถานที่พักเพื่อรอออกนอกประเทศก็จะทำเงินให้มากขึ้น ในส่วนของจังหวัดรายทางนั้น การเป็นจุดพักรถไม่ว่าจะชั่วคราวหรือค้างคืนก็ต้องให้ความสำคัญอย่าคิดว่าขับรถ หรือนั่งเครื่องบินผ่านไปแล้วจบ อย่างน้อยก็ต้องมีกลยุทธ์ให้เงินออกจากกระเป๋าให้ได้บ้าง

วันเสาร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

Renovation before Banned: ปรับปรุงและออกแบบรีสอร์ทป้องกันยี้

สวัสดีชาว SMEfriend ทุกๆท่าน ห่างหายไป 7 วันเต็มๆ แต่ยังไงแล้วเวลาก็ไม่สามารถขวางกั้นเรื่องราวที่อยากแชร์แบ่งปันให้กับเพื่อนๆชาว SME เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในธุรกิจของตนเอง วันนี้เป็นบทความแรกที่พบกับความแปลกใหม่ คือการปรับปรุงรูปแบบการนำเสนอผ่านไฟล์ภาพ .jpg ใน Facebook เพื่อให้เพื่อนๆที่อ่านผ่าน FB ทั้งเครื่องพีซีและมือถือจะได้ไม่ต้องเสียเวลาโหลดเพจนาน แต่ยังไงก็อย่าลืมไปอ่านที่ smefriendblog.blogspot.com กันนะครับ เพราะในนั้นยังมีอะไรอีกมากมาย รับรองเราเน้นประโยชน์สำหรับทุกคน

เรื่องนี้เป็นหลายๆประสบการณ์ที่ไปพบเจอมาด้วยตนเองและจากหลายๆคนได้เล่าสู่กันฟังมาคือการไปพักตามรีสอร์ทขนาดเล็กแล้วพบกับเรื่องไม่น่าประทับใจ เช่น สถานที่ ห้องน้ำ ฯลฯ เนื่องจากผมเองก็เกี่ยวข้องกับการออกแบบบ้านมานานและพอรู้เรื่องเกี่ยวกับปัญหาที่พบ ก็เลยอยากจะนำปัญหาพร้อมแนวทางแก้ไขเพื่อเอาไปแก้ไขปรับปรุงรีสอร์ทของแต่ละคน หวังว่าคงจะได้ประโยชน์ไม่มากก็น้อยนะครับ เราจะมาเริ่มจากในตัวบ้านก่อนเลย

1. เฟอร์นิเจอร์ นอกจากความสวยงามแล้ว เรื่องความสะอาดยังเป็นเรื่องที่สำคัญมาก แต่เนื่องจากรีอสร์ทขนาดกลางและขนาดเล็กนั้นต้นทุนไม่สูงจึงนิยมเรื่องเฟอร์นิเจอร์ราคาถูกรูปแบบธรรมดามาใช้ ซึ่งหารู้ไม่ว่านั่นจะสร้างปัญหาตามมา โดยเฉพาะเรื่องยี้ที่ลูกค้าไม่อยากกลับมาเลย ยกตัวอย่างเช่น เตียงและที่นอน รีสอร์ทส่วนใหญ่ชอบใช้เตียงที่เป็นแบบทึบ คือด้านล่างทึบปิดสนิท แต่หารู้ไม่ว่าฝุ่นและเศษต่างๆจากที่นอนและพื้นจะเข้าไปหมักหมมข้างใต้และไม่สามารถทำความสะอาดได้ การแก้ปัญหาคือการใช้เตียงแบบสี่ขาโล่งจะดีกว่า เพราะแต่ละครั้งที่เข้ามาทำความสะอาดก็สามารถกำจัดฝุ่นออกไปได้ เพียงแต่ต้องเพิ่มความขยันของพนักงานทำความสะอาดมากขึ้น ในส่วนของเตียงนั้นแนะนำให้ลงทุนมากหน่อย อย่าไปใช้เตียงสปริงแบบธรรมดาเพราะอายุการใช้งานไม่ยั่งยืน ควรใช้ที่นอนที่เป็นใยมะพร้าวอัดแน่น เพราะช่วยเรื่องของฝุ่นที่สะสมแล้วยังมีอายุการใช้งานยาวนานด้วย เพิ่มเติมอีกเรื่องคือ ตู้เย็น หลายๆรีสอร์ทมักให้ลูกค้านำอาหารไปปรุงแต่งทำกินเองได้ ทำให้ตู้เย็นเกิดปัญหาเหม็นคาว ยิ่งถ้าพนักงานไม่ดูแลจะทำให้เกิดการหน่ายใจของลูกค้ารายใหม่ได้ อันนี้แนะนำให้รีสอร์ทสนับสนุนตู้แช่ใหญ่มาบริการ โดยไว้ที่ส่วนกลางจะดีกว่า จะได้หมดปัญหาไป
เตียงแบบนี้ไม่แนะนำ
เตียงแบบนี้แนะนำ

2. ห้องน้ำ เป็นเรื่องปัจจัยสำคัญในการจดจำว่ารีสอร์ทเราดีไม่ดีอันดับต้นๆ เพราะลูกค้าจะใช้เวลาบนเตียงและห้องน้ำเป็นส่วนใหญ่ ปัญหาของรีสอร์ทเรื่องห้องน้ำคือ ความสะอาด อุปกรณ์สุขภัณฑ์ เครื่องทำน้ำอุ่น และการระบายน้ำ ว่าด้วยเรื่องของความสะอาดกันสักนิด การเลือกใช้สีของกระเบื้องนั้นถือว่าสำคัญ บางรีสอร์ทชอบคิดว่าใช้สีขาวหรือครีมจะสะอาดตา ซึ่งก็จริงแต่หสกพลาดทำความสะอาดไม่หมดล่ะก็จะเป็นเรื่อง เพราะลูกค้าหลายๆคนไม่ชอบเห็นคราบเลอะบนพื้นหรือผนัง ทางแก้ง่ายๆคือการเปลี่ยนสีของกระเบื้องให้ออกสีน้ำตาลอ่อนๆ (อย่าเข้มมากเพราะจะทำให้ห้องเล็กลง) ถ้าจะให้ดีก็ต้องเลือกกระเบื้องที่มันวาวมากหน่อย เพื่อจะได้ทำความสะอาดง่ายๆ ส่วนเรื่องของอุปกรณ์สุขภัณฑ์และเครื่องทำน้ำอุ่น ซึ่งหลายๆรีสอร์ทขาดการดูแลอันเนื่องมาจากต้นทุนการซ่อมแซมสูงและบ่อย อันนี้ต้องระวัง คงต้องได้แต่เน้นย้ำเลย โดยเฉพาะเรื่องของสายดินเครื่องทำน้ำอุ่น ต้องติดทุกเครื่องถ้าไม่อยากให้โรงแรงมคุณเป็นโรงแรมผีสิง และต้องเตรียมพร้อมยามเข้าสู่ฤดูหนาว ในส่วนของการระบายน้ำ ต้องพูดถึงเรื่องท่อเป็นอันดับแรก เพราะการใช้ท่อที่ถูกขนาดก็จะทำให้การระบายน้ำได้ดี ไม่ช้าและเอ่อล้นห้องน้ำ เพราะจะสร้างความขยะแขยงให้กับลูกค้าได้ ท่อน้ำดีขั้นต่ำต้องขนาด ½”-1” ท่อน้ำทิ้งต้องประมาณ 2” ขึ้นไป และท่อจากส้วมต้องขนาด 4” ถึงจะดีที่สุด และขอพูดต่อถึงเรื่องถังบำบัด เพราะเป็นจุดตายเลย เนื่องจากว่าปัจจุบันมีกฎหมานสิ่งแวดล้อมออกมาเพื่อให้ส่วนท้องถิ่นดูแลน้ำเสียที่ออกจากรีสอร์ท ใครไม่ทำตามระวังให้ดีนะครับ ผมแนะนำเลยว่าถังบำบัดสำเร็จนั้นเป็นคำตอบสุดท้าย เพราะช่วยได้มาก ทั้งแบบบ่อเกรอะอย่างเดียว (ต้องมีถังดักไขมันแยก) หรือแบบบ่อเกรอะและดักไขมันในตัว อย่างไรก็ตามมันขึ้นอยู่กับงบประมาณของแต่ละคนเพราะถังประเภทนี้ราคาตั้งแต่ 3,000-30,000 บาท

3. พื้นห้องและระเบียง พื้นห้องนอนหลายๆที่นิยมเป็นกระเบื้องเซรามิคเพราะราคาถูกรักษาง่ายด้วย ซึ่งก็จริงแต่ต้องหมั่นดูแล เพราะเซรามิคถ้าโดนความมันหรือเม็ดดินเข้ามาก็จะทำไม่น่าใช้ ส่วนพื้นพรมนั้นผมว่าเลิกเถอะเพราะดูแลยากมาก สะสมฝุ่นและเปื้อนก็ต้องถอดออกใหม่ ส่วนระเบียงห้องนั้นอยากให้ทำ Slope สำหรับให้น้ำระบายได้ทันเวลาฝนตก เพราะไม่งั้นจะสกปรกและลื่นเป็นอันตราย ถ้าเป็นหินขัดก็จะดีมากเพราะปลอดภัยกว่าเซรมิค

4. เครื่องปรับอากาศ เป็นเรื่องที่สำคัญมากอีกเรื่อง เพราะหลายๆรีสอร์ทมาตกม้าตายเรื่องแอร์นี่ล่ะ ใช้ของเก่ามือสองบ้างหรือยีห้อโนเนมบ้าง ซึ่งสุดท้ายก็พัง ก็ใช้งานไม่ได้ ลูกค้าก็ต้องเสียความรู้สึกเวลาเปิดมาแล้วไม่เย็น กลิ่นอับออกมา (แนะนำให้ติดเครื่องฟอกหรือพัดลมระบายอากาศไว้ก็จะดี)

5. รูปแบบของห้อง หรือหวงจุ้ยง่ายๆนั่นเอง ห้องพักที่ดีต้องแดดส่องถึงเพราะช่วยให้เกิดความสะอาดและสดชื่น ทิศทางลมต้องมี อย่าได้แต่วางๆบ้านไป ต้องดูทิศเหนือ-ใต้ หลังคาแนะนำให้เป็นแบบจั่วเพราะช่วยลดความร้อนและอากาศถ่ายเทได้ดีมาก ฝ้าห้องต้องโปร่งโล่งไม่เตี้ยเกินไป แนะนำให้ทำฝ้าตาม Slope ของจันทันหลังคาจะดีมาก เพราะจะทำให้ห้องโล่งและกว้างขึ้น ประตู-หน้าต่างๆอยู่ในตำแหน่งที่ถูกและมากเพียงพอ ความสูงของห้องต้องอยู่สูงกว่าพื้นดินประมาณ 60-100 ซม. เพราะจะช่วยลดความชื้นของดินและทำให้ห้องไม่สกปรกได้ หน้าห้องหรือบ้านพักแนะนำให้มีก๊อกล้างตัวเป็นแบบก๊อกธรรมดาหรือ Shower ก็ได้เพราะลูกค้าจะได้ล้างโน่นนี่ก่อนเข้ามาได้
วันนี้ก็ขอพูดเรื่องเกี่ยวกับภายในห้องเป็นหลักแล้วกันเพราะว่าลูกค้าจะสัมผัสได้มากกว่า ในส่วนของเรื่องบริการหรือสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆนั้นก็ขึ้นอยู่กับมาตรฐานของแต่ละที่ว่าจะเน้นเรื่องพวกนี้ขนาดไหน วันนี้ก็หมดหน้าพอดี พบกันใหม่ครั้งหน้า สวัสดีครับ...

วันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

Owner or Franchising: ธุรกิจของเราหรือของเค้าดี?

สวัสดีครับ กลับมาอีกครั้ง ช่วงนี้ห่างหายไปนานเพราะงานประจำทำเอาแต่ละวันหมดแรงจะพิมพ์เลย แต่สิ่งที่อยู่ในหัวนั้นมันมากมายเหลือเกิน แต่ยังไงก็จะพยายามให้ได้สัปดาห์ละ 1 บทความเป็นอย่างน้อย ช่วงนี้มีอะไรที่ส่งผลกระทบกับภาวะเศรษฐกิจและการเมืองของไทยเราเหลือเกิน ทั้งข่าวก่อการร้าย ข่าวเรื่องมาตรา 112 ล้วนแล้วส่งผลกระทบแน่นอนกับภาคธุรกิจ เพราะอย่างน้อยความเชื่อมั่นในการลงทุนก็หายไป


วันนี้มาพูดถึงเรื่องการค้าขายดีกว่า เพราะได้อ่านในหนังสือเล่มหนึ่งจำชื่อไม่ได้บอกไว้ว่า "ปีนี้เป็นปีแห่งธุรกิจแฟรนไชส์" ก็เลยจำมาแล้วจะเอามาเล่าให้ฟัง สำหรับตอนนี้หลายๆคนยังลังเลว่าจะเปิดธุรกิจอย่างไรดี จะเริ่มต้นเองหรือหาผู้ช่วยมาช่วยดี ลองอ่านดูแล้วกันนะครับว่าจะเลือกแบบไหนดี


แฟรนไชส์คืออะไร
แฟรนไชส์ เป็นธุรกิจอีกรูปแบบหนึ่ง คือ การซื้อแบรนด์และสินค้าของเจ้าของจริงไปขายต่อ โดยมีการบริหารงานเองหรือเจ้าของจริงมาบริหารให้ สามารถอธิบายให้เข้าใจง่าย จากตัวอย่าง "นาย ก. มีธุรกิจขายซาลาเปาและกาแฟอยู่ตลาดในตอนเช้า ต่อมาธุรกิจเริ่มดีขึ้นๆ จนลูกค้าต้องต่อคิวนาน จนลูกค้าหลายๆคนบ่น เขาจึงคิดจะขยายสาขาของร้านเพื่อให้ลูกค้าได้สะดวกในการซื้อมากขึ้น แต่การขยายสาขานั้นต้องหาหน้าร้าน (Shop) ตามแหล่งต่างๆซึ่งเขาไม่มีเวลาไปเสาะหา เพราะแค่ทำสูตรหมูหมักก็หมดเวลาในแต่ละวันแล้ว เขาจึงต้องหาคนที่จะนำไปขายแทน นาย ข. เป็นลูกค้าประจำของนาย ก. ได้ยินนาย ก. บ่นเรื่องขยายสาขา จึงบอกนาย ก. ว่าจะขอนำซาลาเปาไปขาย นาย ก. ลังเลใจแต่ใจก็อยากขยายกิจการ จึงบอกนาย ข. ว่าจะให้ซาลาเปาไปขายในลักษณะซาลาเปาดิบ ให้นาย ข. ไปนึ่งเองตามที่นาย ก. แนะนำวิธีไป แล้วให้ใช้ชื่อร้านของนาย ก. โดยจะต้องเสียค่าชื่อร้าน (คล้ายๆกับค่าลิขสิทธิ์) ให้นาย ก. ปีละ 1,000 บาท แค่นี้นาย ข. ก็มีธุรกิจเป็นของตนเองแล้ว" >>> จากตัวอย่างง่ายๆนี้ก็บอกให้เห็นความหมายของแฟรนไชส์
เจ้าของผลิตภัณฑ์ >>> ขายต่อสินค้า ลิขสิทธิ์ >>> ผู้ซื้อแฟรนไชส์
ขอบคุณภาพจาก http://www.giveyousuccess.com/wp-content/uploads/2010/01/Franchise.gif


ทำไมถึงต้องแฟรนไชส์
สิ่งที่จะทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์เติบโตอยู่รอดต่อไปได้คือการเพิ่มจำนวนของผู้อยากมีธุรกิจเป็นของตนเอง (Owner) แต่เนื่องจากว่าการเป็นเจ้าของธุรกิจนั้นใช้เงินทุนสูงพอสมควร เพราะเหมือนตั้งต้นตัวเองใหม่ทั้งหมด ทั้งการจัดซื้อวัตถุดิบ สถานที่ การตกแต่งร้าน คนงานในร้าน ข้าวของเครื่องใช้ ฯลฯ สารพัดที่จะนึกได้ ทำให้หลายๆคนยังลังเลว่าจะเริ่มต้นยัง แต่ธุรกิจแฟรนไชส์นั้นสามารถตอบสนองความต้องการทั้งหมดที่เอ่ยถึงไว้ได้ดี เพราะธุรกิจแฟรนไชส์คือการก๊อปปี้เจ้าของมาให้ผู้ซื้อแฟรนไชส์ทันที ผู้ซื้อธุรกิจฯก็แทบไม่ต้องสรรหาอะไรมาให้เลย เพราะทั้งร้าน การตกแต่ง วัสดุ อุปกรณ์ จิปาถะนั้นธุรกิจฯเขาเตรียมไว้ให้ในจำนวนเงินที่จ่ายแล้ว ยกตัวอย่างเช่น ก๋วยเตี๋ยวร้านหนึ่งมีค่าแฟรนไชส์ 50,000 บาท ซึ่งจำนวนเงินทั้งหมดนั้นรวมทุกอย่างไว้แล้ว รวมถึงการฝึกอบรมก่อนขายด้วย ยกเว้นแต่ค่าร้าน ค่าน้ำค่าไฟ และวัตถุดิบรายวันที่เป็นต้นทุนผันแปร


ยังไงดีระหว่างเจ้าของธุรกิจกับซื้อแฟรนไชส์
ประเด็นนี้ตอบยากเพราะมันขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆด้านทั้งด้านการเงิน ความรู้เฉพาะบุคคล โอกาสธุรกิจ ฯลฯ ซึ่งทั้งสองอย่างก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป เช่น แฟรนไชส์ต้องทำตามกฎของเขาที่ตั้งไว้แต่ธุรกิจของตนเองสามารถปรับเปลี่ยนอะไรเองได้ตามสภาพความเป็นจริง หรือธุรกิจตนเองไม่ต้องเสียค่ารายปีหรือลิขสิทธิ์ซึ่งถือว่าเป็นต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) แต่เจ้าของตนเองไม่ต้องมีส่วนนี้ หรือธุรกิจตนเองต้องลองผิดลองถูกไปเรื่อยจนกว่าจะเหมาะสม แต่แฟรนไชส์เขาเตรียมมาให้แล้วผิดถูกเขาลองมาหมดแล้ว ซึ่งเรื่องนี้อาจจะต้องมาวิเคราะห์พวก SWOT หรือ Five Forces Model ดูเอาว่าธุรกิจของเราที่สนใจนั้นเริ่มต้นเหมาะกับอะไร จะเริ่มต้นแบบไหนก่อน


ก่อนจะจบจากกันไปในวันนี้ ผมอยากจะบอกว่าธุรกิจ เริ่มต้นมันไม่ได้สวยงามเหมือนที่ฝัน มันต้องล้มลุกคลุกคลานไม่ว่าจะแบบไหน แต่ขอให้เริ่ม..ก็ประสบความสำเร็จแล้ว


สุดท้ายนี้แนะนำเว็บไซต์รวมธุรกิจแฟรนไชส์หลายๆเจ้าเอาไว้ด้วยกัน ลองเข้าไปชมกันได้และเลือกให้เหมาะกับตัวเอง สวัสดีครับ...

www.thaifranchisecenter.com


http://www.franchise108.com/

วันอาทิตย์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

Organizational Culture: "วัฒนธรรมองค์กร" หรือ"ตัวกูของกู"

กลับมาอีกครั้งให้หายคิดถึงพร้อมกับลับสมองเพิ่มพูนความรู้ ไม่พูดมากให้เสียเวลา วันนี้กลับมาเขียนเรื่องเกี่ยวกับ HR อีกครั้ง โดยจริงๆแล้วอยากเขัยนมานานแล้วแต่มันสัมผัสจับต้องไม่ได้ เลยต้องนึกมุขมาเขียนอธิบาย จนวันนี้เรามาจัดหนักกับ "วัฒนธรรมองค์กร" หรือ Organizational Culture ที่เราหลายๆคนพูดกันติดปากแต่ไม่รู้ว่ามันคืออะไรกันแน่


วัฒนธรรมองค์กรคืออะไร
วัฒนธรรม คือ สิ่งที่ดีงามสืบทอดต่อกันมาจากรุ่นก่อนสู่รุ่นต่อๆมาโดยมีการปรับเปลี่ยนสภาพตามกาลเวลา อันนี้คือความหมายง่ายๆของวัฒนธรรมที่เราเคยเรียนกันมาในวิชาสังคมศาสตร์ ซึ่งเมื่อรวม "วัฒนธรรรม" กับ "องค์กร" เข้าด้วยกันก็สามารถอธิบายได้ว่า วัฒนธรรมองค์กร คือ สิ่งที่เกิดขึ้นภายในองค์กรไม่ว่าจะจับต้องได้หรือจับต้องไม่ได้โดยมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงและสืบต่อกันมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน


อะไรที่เป็นวัฒนธรรรมองค์กร
จากความหมายที่ผมได้กล่าวไว้ข้างต้น เราก็สามารถแยกแยะได้ว่า วัฒนธรรมองค์กรจริงแล้วนั้นจะต้องประกอบไปด้วย
1) มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี
2) สืบสานสืบทอดต่อกันมา
ดังนั้นอะไรที่ไม่มีการพัฒนาในทางที่ดีและไม่มีการสืบสานต่อกันมาก็ถือว่าไม่เป็นวัฒนธรรมองค์กร โอเคเข้าใจตามนี้มั้ยครับ
ยกตัวอย่างวัฒนธรรมองค์กรมาง่ายสักหน่อยแล้วกัน เช่น
1. ให้ความสำคัญกับการศึกษาของพนักงานในองค์กร องค์กรแบบนี้ก็จะนิยมกับพนักงานที่จบสูงๆหรือไม่จบก็จะส่งไปเรียน โดยคิดว่าสามารถนำมาพัฒนาองค์กรได้
2. เน้นเทคโนโลยี องค์กรพวกนี้จะเป็นพวกบริษัทที่เกี่ยวกับไอที เช่น ไมโครซอฟท์ แอปเปิ้ล เป็นต้น
3. เน้นวัยวุฒิหรือคุณวุฒิ คือให้ความสำคัญกับอายุ ความอาวุโสหรือให้ความสำคัญกับความสามารถ
4. เน้นการปรับตัวเข้ากับสภาพเศรษฐกิจ พวกนี้จะมีบุคลากรและทิศทางองค์กรที่มีความยืดหยุ่นสอดคล้อง
ที่ยกตัวอย่างมาก็เป็นแค่ัตัวอย่างง่ายๆพอให้ภาพนะครับ ส่วนพวกที่ขาดสององค์ประกอบ ผมขอเรียกว่า "กระแสสังคมแล้วกัน" เช่น กระแสการมาทำงานแล้วไม่ต้องตอกบัตร กระแสการปาร์ตี้หลังงานเลิก อะไรทำนองนี้


สิ่งที่มีผลกระทบต่อวัฒนธรรมองค์กร
จากการที่วัฒนธรรมองค์กรนั้นมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยนั้นก็มีปัจจัยหลายด้านทั้งภายในและภายนอก ได้แก่
1) การแข่งขันในธุรกิจ
2) นวัตกรรมภายในองค์กร
3) ระบบการให้บริการลูกค้า
4) ความสามารถของพนักงาน
5) การทำงานกันเป็นทีม
6) สภาพจิตใจของพนักงาน
7) เป้าหมาย วิสัยทัศน์ขององค์กร


การปรับเปลี่ยนของวัฒนธรรมองค์กร
การที่วัฒนธรรมองค์กรสามารถเปลี่ยนแปลงได้ มีการปรับปรุงตลอดเวลา โดยสามารถแบ่งได้เป็น 2 จำพวก คือ
1. การปฏิวัติวัฒนธรรม (Cultural Innovation) แบ่งออกเป็นสองข้อย่อย คือ
1.1 การเกิดวัฒนธรรมแบบใหม่ขึ้นมา (Creating) ซึ่งแตกต่างจากเดิมทั้งหมด
1.2 การเปลี่ยนแปลงแบบวัฒนธรรมใหม่แทนที่วัฒนธรรมเก่า (Changing)


2. การดำรงซึ่งวัฒนธรรมเดิม (Cultural Maintenance) แบ่งออกเป็นสองข้อย่อย เช่นกัน คือ
2.1 การรวมวัฒนธรรมใหม่และเก่าเข้าด้วยกัน (Integrating)
2.2 การแทนที่ด้วยวัฒนธรรมใหม่ (Embodying)


นี่ก็เป็นเพียงรายละเอียดคร่าวๆพอสังเขปของวัฒนธรรมองค์กรสำหรับวันนี้นะครับ เพราะจริงๆแล้วเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมากมาย โดยอยากให้ยึดว่าสิ่งที่เป็นวัฒนธรรมองค์กรจะต้องประกอบด้วยสององค์ประกอบหลัก คือ การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีและการสืบสานต่อกันมา


วันนีัขอลาไปก่อน สวัสดีครับ