วันอาทิตย์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ทิปการทำการตลาดบน Instagram (โดย Marketo.com)


วันนี้ขอนำเสนอทิปง่ายๆของการทำการตลาดบน Instagram โซเชียลมีเดียที่กำลังมาแรงสุดของปีนี้ จากเว็บไซต์ marketo.com 

1. Curate หรือเรียกง่ายๆว่า การวางแผนการนำเสนอ

- กลุ่มเป้าหมายของสินค้าหรือบริการคือใคร (หรือจะเรียกว่า "ผู้ติดตาม" (follower))

- ทำอย่างไรจะสร้างความผูกพันระหว่างรูปภาพที่นำเสนอกับลูกค้าหรือผู้ติดตาม (follower)

- ทำอย่างไรรูปภาพที่นำเสนอจะกลายเป็นที่สนใจ ให้ผู้ติดตามได้กล่าวบอกต่อๆกันไป


2. Snap หรือการถ่ายภาพ

- ต้องเป็นภาพที่ exclusive ของสินค้าหรือบริการ

- ต้องทำให้ภาพเป็นที่สนใจ

- ต้องเป็นภาพที่แสดงความเป็นกันเองระหว่างสินค้า บริการกับผู้ติดตาม


3. Hashtag

- การติด hashtag หรือสั้นๆว่า "แท็ก" นั้นเป็นพลังสำคัญในการโปรโมตสินค้าหรือบริการได้เป็นอย่างดี

ผู้ติดตามสามารถเสิร์ชหารูปภาพได้จากการติดแท็กนี้ แท็กที่ดีควรเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของสินค้าและบริการ


4. Engagement หรือการสร้างความผูกพันหรือยึดติดระหว่างสินค้ากับผู้ติดตาม

- สร้างอีเวนท์หรือเหตุการณ์ที่น่าสนใจเสมอ

- ระบุตำแหน่งสถานที่ในรูปที่โพสต์

- สร้างเกมเพื่อเป็นการตอบโต้ระหว่างผู้ติดตาม


ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก marketo.com

วันพฤหัสบดีที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2555

Personal Tax: โครงสร้างใหม่ปี 2557

ขอโทษเหล่าแฟนๆ SMEfriend ที่หายหน้าหายตาไปหลายเดือน ต้องยอมรับผิดจริงๆเพราะงานประจำรัดตัวมากจนไม่มีเรี่ยวแรง แต่ยังไงก็อยากให้ทุกคนติดตามกันไปเรื่อยๆนะครับ รับรองจะเพิ่มคุณภาพขึ้นเรื่อยๆอย่างแน่นอน

และแล้วครม.ของนายกปูก็คลอดมาตรการภาษีบุคคลธรรมดาออกมาใหม่เอาใจชนชั้นกลางเป็นหลัก โดยทางรมต.กิตติรัตน์อ้างว่าการปรับอัตราภาษีครั้งนี้มีจุประสงค์คือ

1. สร้างความยุติธรรมให้กับบุคคลรายได้ปานกลาง
2. ลดภาระด้านภาษีให้กับชนชั้นแรงงาน
3. กระตุ้นการบริโภค เนื่องจากการจ่ายภาษีที่ลดลงจะนำไปกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ เงินรายได้เข้ารัฐมากกว่าที่เสียไปสองหมื่นกว่าล้าน

ประเด็นสำคัญคือการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ เนื่องจากว่าต้องยอมรับปีนี้และปีหน้าเป็นปีที่การส่งออกของภาคธุรกิจนั้นไม่เป็นไปตามเป้า ตลาดยุโรปและอเมริกา แม้แต่จีนก็หยุดชะงักการบริโภคเนื่องมาจากปัญหาเศรษฐกิจในประเทศยุโรปและอเมริกา ดังนั้นการหาหนทางช่วยภาคส่งออกอันดับแรกก็คือการหาแหล่งตลาดใหม่ ซึ่งเป็นประเทศแถบตะวันออกกลางและแอฟริกา แต่ก็ไม่ได้มากมายเท่ากับกลุ่มแรก ดังนั้นการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศนี่ล่ะจะเป็นตัวช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศได้อย่างมาก

เราลองมาดูตารางอัตราภาษีบุคคลธรรมดาใหม่ที่จะเริ่มมีผลในปี 2557

อัตราภาษีเก่า
ขอบคุณภาพจาก http://thaipublica.org

อัตราภาษีใหม่

ขอบคุณภาพจาก edtguide.com

จากอัตราภาษีใหม่นี้จะพบว่าอัตราใหม่นี้นั้นเอาใจคนชนชั้นกลางที่เป็นแรงงาน เนื่องจากส่วนใหญ่รายได้ 0-30,000 บาทต่อเดือน จะเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศจะเสียภาษีอัตราที่น้อยลง โดยคนกลุ่มนี้จะมีเงินเหลือเพื่อไปจับจ่ายใช้สอยสร้างรายได้กลับมาให้รัฐในรูปแบบของภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT (7%) ส่วนกลุ่มบุคคลรายได้มากขึ้นไปอีกก็ได้รับอานิสงได้เสียภาษีลดลงด้วย ส่วนบุคคลที่มีรายได้ประมาณ 300,000-400,000 บาทขึ้นไปก็ได้ลดอัตราลงมานิดหน่อยเพราะถือว่าพวกนี้ร่ำรวยอยู่แล้ว

สุดท้ายนี้ก็หวังว่าการปรับอัตราภาษีบุคคลธรรมดาใหม่ของรัฐบาลจะช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในให้สูงขึ้นอย่างที่หวังก็แล้วกัน ส่วนปีนี้ (2555) ใครยังไม่ได้ลดหย่อนภาษีจากประกันชีวิต กองทุน LTF/ RMF อะไรก็แล้วแต่ก็ขอให้รีบๆหน่อยนะครับ เดี๋ยวจะอดใช้สิทธิ...

วันเสาร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2555

Personal Tax: ภาษีคนเดินดิน ภาค 2 "หนทางลดหย่อน"

กลับมาอีกครั้งหลังหายหน้าหายตาไปนานเหมือนกัน แต่เนื่องจากว่าอยากจะแชร์วสิ่งดีๆเลยต้องหาเวลาว่างกลับมาอีกครั้งกับเรื่อง "ภาษี" เรื่องง่ายๆที่หลายคนมองข้าม มาต่อกันดีกว่านะครับเพื่อไม่ให้เสียเวลา

ส่วนลดหย่อน
ส่วนลดหย่อนนั้นทางสรรพากรมีไว้เพื่อให้เราใช้ลดการเสียภาษีให้น้อยลง แต่ไปเพิ่มผลด้านอื่นๆให้กับประเทศ ช่วยให้เกิดการลงทุนมากขึ้น เรามาลองดูว่าเราจะลดหย่อนอะไรได้บ้าง

1) ลดหย่อนส่วนตัว ผู้เสียภาษีได้สิทธิลดหย่อน 30,000 บาท ถ้ามีภรรยาหรือสามีที่ไม่ได้มีรายได้หรือมีรายได้แต่คิดภาษีรวมกันก็ลดหย่อนได้อีก 30,000 บาท รวมเป็น 60,000 บาท (หลายๆคนคงคิดหาคู่สมรสกันเป็นแถว)
2) ลดหย่อนของบุตร ลดได้ 15,000 บาทและ 17,000 บาทสำหรับบุตรศึกษาต่างประเทศและในประเทศตามลำดับ โดยมีข้อแม้ว่า ต้องอายุไม่เกิน 20 ปี หากเกินจะต้องศึกษาอยู่ระดับอุดมศึกษาแต่ได้ไม่เกิน 25 ปี (อยากลดได้เยอะต้องให้ลูกๆเรียนต่อปริญญาโทและเอกกันนะครับ)
ปล. ถ้าคู่สามีแยกกันคิดภาษีได้กันคนละครึ่งนะครับ
3) บิดามารดา (อายุ 60 ปีขึ้นไป ไม่มีเงินได้ด้วย) แบ่งออกเป็นบิดามารดาของผู้เสียภาษีและคู่สมรส ได้ 30,000 บาท รวมถึงเบี้ยประกันสุขภาพบิดามาราดาได้อีก 30,000 บาท ถ้าแยกกันเสียก็คิดบิดามารดาของใครของมัน
4) ลดหย่อนเพื่อสังคม คือคนพิการ (ที่มีบัตรลงทะเบียนเป็นผู้พิการ) ได้คนละ 60,000 บาท ถ้าสามีภรรยาอุปถัมป์ด้วยกันก็ได้คนละ 30,000 บาท (อันนี้ดีทั้งได้บุญและลดหย่อนภาษีด้วย
5) สวัสดิการส่วนตัว
ประกันชีวิต ลดหย่อนตามจริงของเบี้ยประกันที่เสียไป แต่จะต้องมีอายุกรมธรรม์ 10 ปีขึ้นไปและมีผลตอบแทนไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกัน (หลายๆคนชอบทำประกันเพื่อลดหย่อนกันมาก
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพลดหย่อนได้ไม่เกิน 10,000 บาท หากเกินให้ไปหักกับค่าใช้จ่าย (แนะนำพนักงานบริษัทควรทำไว้)
กองทุนรวมระยะยาว ลดหย่อนได้เท่ากับที่ลงทุนซื้อกองทุนไปแต่ไม่เกิน 15%ของรายได้พึงประเมินแต่ไม่เกิน 500,000 บาท
ดอกเบี้ยกู้ยืมจากอสังหาริมทรัพย์ ลดหย่อนตามที่จ่ายจริงในปีเสียภาษีแต่ได้ไม่เกิน 100,000 บาท
กองทุนประกันสังคม ลดหย่อนตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 9,000 บาท

เงินบริจาค
ก่อนที่เราจะนำเงินที่หักค่าใช้จ่ายและลดหย่อนไปคำนวณภาษี เราสามารถนำยอดเงินบริจาคให้กับภาคส่วนต่างๆของรัฐ (ที่สรรพากรกำหนดไว้) ทั้งด้านการศึกษา สุขอนามัย การกีฬาและอื่นๆอีกมากมาย (ลองโหลดจาก rd.co.th) โดยสามารถนำไปหักก่อนคิดภาษีได้ตามจริง แต่ต้องไม่เกิน 10% ของเงินที่หักค่าใช้จ่ายและลดหย่อนภาษีแล้ว ส่วนเงินบริจาคพรรคการเมืองนั้นไม่คิดรวมนะครับ

เงินได้สุทธิ
หลังจากหักค่าใช้จ่าย ลดหย่อนและเงินบริจาคแล้ว เราก็สามารถนำเงินที่ได้หรือที่เรียกว่า "เงินได้สุทธิ" ไปคำนวณหาภาษีได้

เงินได้สุทธิ = เงินได้พึงประเมิน - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน - เงินบริจาค


หลักการคำนวณภาษีก็ง่ายๆไม่ยากผมก็ขอไม่เอ่ยอะไรมากก็แล้วกัน

สรุปในภาคนี้ก็จะพบว่า จำนวนเงินการเสียภาษีบุคคลธรรมดานั้นจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับเงินได้สุทธิ ยิ่งเงินได้สุทธิสูงๆ ฐานอัตราการเสียภาษีก็สูงตามด้วย ดังนั้นถ้าอยากเสียภาษีน้อย ก็ต้องมีเงินได้สุทธิน้อยๆ ซึ่งจากสมการด้านบน ก็จะได้ว่าถ้าต้องการเงินได้สุทธิน้อยๆ ก็ต้องเพิ่มค่าลดหย่อนและเงินบริจาคมากๆ นี่ก็เป็นหลักง่ายๆ

หวังว่าภาคนี้จะให้ประโยชน์สำหรับคนทำงานที่เสียภาษีทุกคน เห็นมั้ยครับไม่ต้องเลี่ยงภาษีก็เสียภาษีน้อยๆได้ ช่วยชาติและได้บุญด้วย พบกันใหม่ครั้งหน้า...สวัสดีครับ

วันอาทิตย์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2555

Personal Tax: ภาษีคนเดินดิน ภาค 1 "รู้จักโครงสร้าง"

สวัสดีชาว SMEfriend กลับมาอีกครั้งหลังจากห่างหายไปนาน (แต่คงจะไม่ลืมกันนะครับ) ก็เรื่องเดิมๆคืองานประจำมันรัดตัวเหลือเกิน แต่วันนี้กลับมาเพราะใจมันเรียกร้องให้เขียนเหลือเกิน เพราะเป็นข่าวหน้าหนึ่งทั้งนสพ.ปกติและนสพ.บันเทิงกับประเด็นดาราสาวเลี่ยงภาษีโดยให้ใครก็ไม่รู้มารับเช็คแล้วใช้ชื่อแทน ซึ่งจริงเท็จยังไงผมไม่อาจจะไปก้าวก่ายมาก เพราะถือเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ใครจ่ายจริงก็ช่วยชาติ ใครเลี่ยงภาษีก็อย่าบอกว่ารักประเทศเลย แต่ประเด็นที่จะพูดถึงก็คือ "ไม่เลี่ยง แต่จ่ายน้อยลงได้มั้ย" ซึ่งจะให้เขียนทีเดียวหมดก็คงไม่ไหว ผมก็ขอแตกประเด็นเป็นหลายๆประเด็นดังนี้นะครับ
1) โครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดา (Personal Income Tax) ประกอบด้วยอะไรยังไงบ้าง
2) ทำอย่างไรจะเสียภาษีลดลง มีวิธีไหนบ้าง
สำหรับภาคนี้ก็ขอเริ่ม introduce เรื่องภาษีบุคคลธรรมดาของสยามประเทศเรากันเลยนะครับ

ภาษีบุคคลธรรมดา
ภาษีบุคคลธรรมดา เป็นภาษีที่ให้บุคคลทั่วไปที่มีรายได้จะต้องจ่ายภาษีให้กับรัฐเพื่อนำไปพัฒนาประเทศ โดยผู้ที่ประกอบอาชีพในหลากหลายสาขาก็จะต้องเสียภาษี ซึ่งแต่ละสาขาจะมีการคิดภาษีแตกต่างกันไป
โครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดา
การที่เราจะรู้ว่าเราสามารถจ่ายภาษีลดลงตรงไหนบ้างนั้น เราจำเป็นต้องรู้จักโครงสร้างของภาษีบุคคลธรรมดาเสียก่อน เพื่อ "รู้เขา รู้เรา" ทำให้เราสามารถรู้ช่องทางในการลดหย่อนภาษีได้ โดยที่โครงสร้างของภาษีบุคคลธรรมดาของไทยแลนด์นั้นประกอบด้วยส่วนต่างๆคือ

1. รายได้พีงประเมิน ตามอาชีพต่างๆ >>> ภาค 1
2. ส่วนที่หัก "ค่าใช้จ่าย" (ตามแต่ละสาขาอาชีพ) >>> ภาค 1
3. ส่วนลดหย่อน >>> ภาค 2
4. ส่วนหัก "เงินบริจาค" >>> ภาค 2
5. เงินได้สุทธิ (เอาไปคำนวณภาษี) >>> ภาค 2
5. ส่วนต่างๆที่ต้องหัก เช่น หักเงินภาษีอสังหาริมทรัพย์ ภาษีรถยนต์ (อนาคต) >>> ภาค 3
6. ภาษีหัก ณ ที่จ่าย, ภาษีส่วนเกิน >>> ภาค 3

รายได้พึงประเมิน
รายได้พึงประเมิน ถ้าพูดเป็นภาษาไทยก็คือเงินที่เราได้มาจากการทำมาหากินน่ะล่ะ หลากหลายอาชีพรายได้ก็ไม่เท่ากัน ดังนั้นเขาจึงแบ่งรายได้พึงประเมินออกเป็น 8 ประเภท ได้แก่

ประเภทที่ 1 เงินที่ได้จากการจ้างงาน
- เงินเดือน เบี้ยเลี้ยง โบนัส
- เงินค่าเช่าบ้าน (สำหรับที่องค์กรหรือบริษัทให้)
- เงินที่นายจ้างออกให้ (แต่จริงๆเราออกเอง)
- เงิน ทรัพย์สินหรืออะไรก็ได้ที่ได้มาจากการจ้างงาน เช่น รถยนต์ บ้าน ที่บริษัทมอบให้
ประเภทที่ 2 เงินประจำตำแหน่ง
- เบี้ยประชุม
- รายได้อื่นๆที่ได้มาเพราะตำแหน่ง
ประเภทที่ 3 ค่ากู๊ดวิลล์ (ยากเลย..)
- เงินจากค่าลิขสิทธิ์รายปี
- เงินพินัยกรรมรายปี
ประเภทที่ 4 ดอกเบี้ย ปันผลจากการโอนหุ้น
- ดอกเบี้ยจากพันธะบัตร หุ้นกู้
- เงินปันผล ผลกำไรจากกุ้น
- ผลประโยชน์จากการร่วมหุ้นบริษัท
*** สามารถหักภาษี ณ ที่จ่ายได้
ประเภทที่ 5 เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน
ประเภทที่ 6 เงินได้จากการวิชาชีพอิสระ
- ทนายความ หมอ วิศวกร สถาปัตย์ บัญชี
ประเภทที่ 7 เงินได้จากการรับเหมา
ประเภทที่ 8 เงินได้จากการทำธุรกิจ อุตสาหกรรม เกษตรกรรม ขนส่ง อสังหาริมทรัพย์

รายการหักจากรายได้พึงประเมิน
ประเภทที่ 1 เงินที่ได้จากการจ้างงาน
ประเภทที่ 2 เงินประจำตำแหน่ง
ทั้งสองประเภท จะมีรายการหักค่าใช้ตจ่ายคือ
1) เงินสะสมของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กบข.
2) ค่าใช้จ่ายของผู้เสียภาษี 40% ของรายได้พึงประเมินสองประเภทหักเงินสะสมต่างๆ แต่ไม่เกิน 60,000 บาท
3) ค่าใช้จ่ายของคู่สมรส (กรณีจ่ายร่วมกัน)

ประเภทที่ 3 ค่ากู๊ดวิลล์ (ยากเลย..)
- ค่าลิขสิทธิ์ของผู้เสียภาษีและคู่สมรสหัก 40%ของรายได้แต่ไม่เกิน 60,000 บาท

ประเภทที่ 5 เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน
- โรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง หักค่าใช้จ่าย 30% ของเงินได้หรือตามจริง (ถ้ามีเอกสารแนบ)

ประเภทที่ 6 เงินได้จากการวิชาชีพอิสระ
- หักค่าใช้จ่าย 60% ของรายได้หรือตามจริง

ประเภทที่ 7 เงินได้จากการรับเหมา
- หักค่าใช้จ่าย 70% ของรายได้หรือตามจริง

ประเภทที่ 8 เงินได้จากการทำธุรกิจ อุตสาหกรรม เกษตรกรรม ขนส่ง อสังหาริมทรัพย์

หลังจากที่เราได้คำนวณรายได้พึงประเมินรวม ทั้ง 8 ประเภทพร้อมหักค่าใช้จ่ายออกไปแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการนำไปหักค่าลดหย่อน ซึ่งติดตามต่อไปในภาคที่ 2 นะครับ

วันอังคารที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2555

NEW TV ERA: เปิดยุคทองทีวีดาวเทียม สงครามแย่งชิงมวลชน

              สวัสดีชาว SMEfriend กันในช่วงเดือนสิงหาคม (เดือนที่มีวันหยุดเยอะมากๆ) หายหน้าหายตาไปนาน เนื่องจากว่างานประจำนั้นรัดตัวเหลือเกิน แต่ก็ยังมีไฟในการเขียนบทความเรื่องราวดีๆเพื่อแบ่งปันสาระความรู้ที่คุณอาจจะมองข้ามไปในเรื่องธุรกิจ หวังว่าหลายๆคนจะติดตามกันไปเรื่อยๆ อ่อ!!! ลืมบอกไป ตอนนี้ผมจะให้ความสำคัญกับแฟนเพจ facebook.com/beSMEfriend มากขึ้นๆ เพราะเป็นช่องทางที่สะดวกในการแชร์ความรู้ด้านธุรกิจ โดยในทุกๆวันผมจะพยายามหาข้อมูลใหม่ๆที่เป็นประโยชน์มานำเสนอกันตลอดทั้งวัน 24 ชม. 
              กลับมาเข้าเรื่องเนื้อหาหลักๆของเราดีกว่า เรื่องของทีวีดาวเทียมนี้เป็นเรื่องที่ผมอยากเขียนมานานแล้วตั้งแต่มียุคทีวีจอดำในช่วงยูโรเมื่อเดือนกรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมา แต่ก็คิดว่ามันก็แค่เรื่องขัดแย้งทางธุรกิจ แต่วันนี้ผมได้อ่านข่าวว่าทรูวิชั่นเปิด “ทรูทีวี” ผนึกกับ “PSI” เปิดกล่องรับสัญญาณใหม่เพิ่มช่องทรูวิชั่นเจ๋งทั้งช่องภาพยนต์ดังๆ รวมทั้งเอาใจคอฟุตบอลพรีเมียร์ลีกไทยและอังกฤษได้ดูกันฟรีๆ (บางคู่) โดยประเด็นที่โดนใจเต็มๆเลยคือการบังคับ “PSI” ตัดช่องของ GMM Grammy ทั้งหมดออกไป นั่นล่ะคือประเด็นที่ผมนั้นจะต้องเขียนถึงให้ได้

ขอบคุณภาพจาก http://static.ddmcdn.com/

จานดาวเทียมสมัยก่อนจนถึงก่อนยุคสงคราม
               พูดถึงจานดาวเทียมสมัยก่อนนั้นเป็นยุคของคนรวยเขาจะมีกัน เพราะแต่ก่อนราคาจะแพงมาก ติดตั้งทีเกือบหมื่นบาท มีอยู่ไม่กี่เจ้า เช่น SAMART, DYNASAT UBC (TrueVision) ต่อมาก็มี PSI IPM และ DTV โดยมีทั้งระบบจ่ายเงินทีเดียวและจ่ายรายเดือน โดยคนส่วนใหญ่ก็จะนิยมซื้อติดและจ่ายเงินทีเดียว จะยกเว้นก็ในสังคมเมืองนั่นล่ะที่จะยอมเสียรายเดือนของ TrueVision ที่ไต่ราคาจากหลักร้อยจนปัจจุบันมีราคาถึงสองพันกว่าบาทขึ้นอยู่กับช่องที่เปิดบริการ ธุรกิจจานดาวเทียมก็ดำเนินกิจการมาเรื่อยๆไม่ได้หวือหวาอะไรเพราะด้ววยราคาที่แสนแพง ทั้งๆที่ก็มีหลายเจ้ายอมดร็อปราคาลงมา เช่น ทรูวิชั่นยอมให้จานฟรีกับลูกค้าทรูมูฟเพื่อแลกจำนวนลูกค้ามือถือให้มากขึ้น วงการจานดาวเทียมก็กลับมาบูมอีกครั้งเมื่อถูกคู่แข่งที่ไม่คิดว่าจะมีอย่าง “เคเบิลท้องถิ่น”เข้ามาแทนที่ เคเบิลท้องถิ่นเข้ามาแชร์รายได้ของจานดาวเทียมอย่างเห็นได้ชัด เพราะราคาติดตั้งถูก รายเดือนก็ถูก ทำเอาเหล่าจานหลากสีต้องปรับกลยุทธ์สู้ทั้งลดราคาจานและกล่องรับฯ เพิ่มช่องทีวีให้มากขึ้น บางบริษัท (SAMART)ต้องตั้งโรงเรียนสอนเกี่ยวกับระบบดาวเทียมและเน็ทเวิร์ค หรือแม้กระทั่งไล่ฟ้องร้องลิขสิทธิ์เหล่าเคเบิลท้องถิ่น จนทำให้เคเบิลก็เป๋เหมือนกัน สุดท้ายก็ต้องตั้งสมาคมมาปกป้องคนเคเบิลด้วยกันเอง จนกระทั่งราคาของจานนั้นถูกมาก (คาดว่าเริ่มนำเข้าจากจีนมามากขึ้น)


ขอบคุณภาพจาก http://www.mynke.com/

ปัจจุบัน น่านฟ้าสีแดง
                   ที่บอกว่าน่านฟ้าสีแดงนั้นก็ฟ้องมาจากทฤษฎีน่านน้ำสีแดงที่ทั้งปลาใหญ่ปลาน้อยไล่กินกันสนุกสนาน กลุ่มธุรกิจทั้งค่ายมือถืออย่าง AIS ในนามของ DTV หรือธุรกิจบันเทิงอย่างจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (GMM Z)และอาร์เอส (SUNBOX) นั้นเริ่มมีช่องดาวเทียมเป็นของตนจากแต่ก่อนก็แค่มีแต่ช่อง ปัจจุบันมีกล่องขายกันอย่างสนุกสนาน เราเข้าไปร้านสะดวกซื้อเงยหน้าขึ้นมาก็เจอกล่องรับสัญญาณกันให้พรึ่บ ปรากฏการณ์นี้นั้นเป็นผลของการตั้งกสทช.ขึ้นมาควบคุมกิจการโทรทัศน์และโทรคมนาคม ซึ่งจะต้องมีกฎระเบียบเข้ามาควบคุม ซึ่งทำให้ค่ายใหญ่รีบเอาตัวเข้ามาก่อนที่กฎนั้นจะมีขึ้น การแข่งขันของทีวีดาวเทียมนั้นอาจจะแบ่งเป็นสองพวก คือ

1) ประเภทขายจานพร้อมกล่องสัญญาณ พวกนี้จะแข่งขันกันมานานแล้ว แต่ไม่มีอะไรแตกต่างกันมาก เพราะระบบของดาวเทียมก็มีเหมือนกันทั้งแบบ KU-Band C-Band หรือ NSS6 ช่องทีวีก็จะไม่แตกต่างกันมาก ราคาก็ใกล้เคียงกัน แล้วแต่การตลาดและโปรโมชั่นของร้านตัวแทนไหนจะโดนกว่ากัน

ขอบคุณภาพจาก http://www.forwardsat.com/

2) ประเภทขายกล่องรับสัญญาณอย่างเดียว คือลูกค้าสามารถไปซื้อจานยี่ห้อไหนก็ได้เพีงแต่ไปซื้อกล่องมาติดตั้งเองก็ดูได้แล้ว อันนี้ล่ะที่กำลังฟาดฟันกันอย่างสนุกสนาน เพราะต่างคนต่างผลิตช่องทีวีออกมาเรียกลูกค้า GMM Z ก็จะเน้นช่องของแกรมมี่ที่มีทั้งเพลงและภาพยนต์รวมถึงฟุตบอลโลกที่ผ่านมาและจะมีช่องฟุตบอลบุนเดส ลีกาของเยอรมันด้วย ในส่วนของ SUMBOX นั้นก็จะเน้นช่องเพลงของค่ายอาร์เอสและบวกช่องละคร “8” ที่ลงทุนผลิตละครป้อนทีวีดาวเทียมอย่างเดียว โดยขนดาราและนักร้องของค่ายมากันแน่น ส่วน”TrueTV” นั้นอาจจะเปิดตัวช้า (สงสัยคิดว่าปัจจุบันตัวเองก็มี TrueVison ทั้งจานและเคเบิลอยู่แล้ว) แต่ก็อดใจอยากโดดลงมาเล่นด้วยโดยอาศัย Content หรือเนื้อหาขอตนที่มีอยู่แล้วเอามาฟาดฟัน ในส่วนกลยุทธ์การแข่งขันนั้นก็เริ่มต้นด้วยการขายพ่วง (GMM Z ขายพ่วงไปกับทีวีช่วงยูโร) ต่อมาก็ใช้กลยุทธ์ Synergy ที่ TrueTVกับPSI กำลังกระหน่าใส่ GMM Z ณ ขณะนี้


ขอบคุณภาพจาก http://www.siamsport.co.th/

อนาคตลูกค้าตาดำๆ
ตราบใดที่ยังไม่มีระเบียบข้อบังคับจากกสทช.ออกมา เหล่ากล่องและจานหลากหลายยี่ห้อนี้ก็จะต่อสู่นัวเนียเพื่อแย่งฐานลูกค้ามาเป็นของตน โดยเอา Content มาหลอกล่อตามสูตรทุนนิยม แต่ก็ไม่รู้ว่าจะดีหรือทำให้ลูกค้าเดือดร้อน เพราะอีกหน่อยจะทำให้อีกหน่อยเราจะได้เห็นหลายๆบ้านมีกล่อง 4-5 กล่องสำหรับทีวีเครื่องเดียวก็เป็นได้

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
- จานดาวเทียมระบบ KU-Band จะเป็นจานเล็กๆหลากสีสัน ส่วนจานแบบ C-Band จะเป็นตะแกรงสีดำใหญ่

- จำนวนช่องนั้นแล้วแต่ผู้ให้บริการกำหนด จริงๆแล้วสามารถรับชมช่องต่างๆได้เป็นพันๆช่อง

สำหรับอนาคตทีวีดาวเทียวจะเป็นยัง ผมสัญญาว่าถ้ามีอะไรเปลี่ยนแปลงจะรีบมาเล่าให้ฟังอย่าแน่นอน...
ขอขอบคุณที่ติดตาม