วันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2555

AEC: ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2015 กับการคมนาคม

กลับมาอีกครั้งกับบทความ หลังจากได้เดินทางไปเยี่ยมชมงาน BOI Fair 2011 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี (ขยายเวลาจนถึง 22 มกราคมนี้) รวมถึงกระแสข่าวที่เกี่ยวข้องกับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ก็เลยวกกลับมาเขียนถึงเพื่อให้หลายๆคนมองภาพเห็นได้ชัดเจนขึ้น ซึ่งวันนี้จะมาเน้นพูดถึงเรื่องการคมนาคมและขนส่งเป็นหลัง เนื่องจากว่าประเทศไทยได้รับบทเป็นเจ้าภาพในด้านการเดินทางทางอากาศหรือเป็นฮับ (Hub) ด้านท่าอากาศยาน ซึ่งจะส่งผลให้ไทยเป็นศูนย์กลางของการเดินทางและขนส่งของภูมิภาคอาเซียน


ทำไมต้องประเทศไทย
เรื่องนี้สามารถอธิบายได้ง่ายๆเลยว่า ประเทศไทยถือว่าเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน เช่นเดียวกับมาเลเซียหรือสิงคโปร์ เมื่อมองจากภาพแผนที่ก็จะเห็นได้ว่าไทยนั้นอยู่กลางของอาเซียน แต่มาเลเซียและสิงคโปร์นั้นมีข้อจำกัดด้านเนื้อที่ของประเทศ ทำให้ประเทศไทยได้เปรียบมาก รวมถึงระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ถนน รถไฟ สนามบินและท่าเรือนั้นมีกระจายอยู่ทุกๆภูมิภาคสามารถเชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้านรอบๆได้ เช่น
สนามบินสุวรรณภูมิ จะเป็นฮับขนาดใหญ่ จากปริมาณผู้โดยสารปี 54 ที่ผ่านมามากกว่า 40 ล้านคน โดยมีโครงการต่อขยายอาคารผู้โดยสารขาเข้าเพิ่มเติมอีก 2 เฟส ซึ่งคาดว่าไม่เกินสามปีก็คงได้เห็น โดยสุวรรณภูมินั้นเชื่อมต่อสนามบินต่างๆทั้ง 4 ภูมิภาคได้ เช่น
- สนามบินเชียงใหม่ เป็นสนามบินนานาชาติที่สามารถเชื่อมต่อถึงพม่าและลาว รวมถึงออกไปจีนได้
- สนามบินภูเก็ต เป็นสนามบินนานาชาติเช่นกัน สามารถเชื่อมต่อไปยังมาเลเซียและสิงคโปร์ทางรถยนต์ได้
- สนามบินอุบลราชธานี จะเป็นสนามบินที่สำคัญในอนาคตในการเดินทางเชื่อมต่อกับกัมพูชา ลาวใต้และเวียดนาม


สำหรับเส้นทางการเดินทางด้วยรถยนต์นั้นประเทศไทยถือว่ามีความได้เปรียบทั้งปริมาณการรองรับรถและความสะดวกสบาย มีถนนและทางด่วนไปได้ทุกภาค รวมถึงเร็วๆนี้จะมีการเปิดใช้มอเตอร์เวย์สายใหม่จากบางปะอินไปนครราชสีมาและอนาคตจะเป็นส่วนต่อขยายไปถึงขอนแก่นและหนองคายด้วย ซึ่งก็จะรองรับการค้าจากลาวซึ่งเป็นการลำเลียงสินค้ามาจากจีนอีกด้วย


ท่าเรือ เป็นอีกหนึ่งเมกะโปรเจ็คท์ที่ตอนนี้กำลังเฟื่องมาก ทั้งท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง (Eastern Seaboard) รวมถึงท่าเรือน้ำลึกจังหวัดระนอง (Western Seaboard) ที่เตรียมก่อสร้างรองรับการแข่งขันกับท่าเรือน้ำลึกทวายของพม่าด้วย


อะไรต้องปรับปรุง
สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ประเทศไทยต้องเร่งปรับตัวคือการเดินทางด้วยรถไฟ โดยปัจจุบันต้องยอมรับว่ารถไฟไทยนั้นล้าหลังมากพอๆกับอินเดียหรือกัมพูชา และยังเดินหน้าขาดทุน (ปกติก็ขาดทุนอยู่แล้วเจอรถไฟฟรียิ่งขาดทุนเข้าไปอีก) ซึ่งเร็วๆนี้เป็นนิมิตหมายอันดีที่ประเทศจีนจะมาร่วมลงทุนรถไฟความเร็วสูง ( 220-260 กม.ต่อชม.) เพื่อต่อการคมนาคมจากจีนผ่านพม่าแล้วมาไทยเพื่อออกอ่าวไทย ซึ่งก็หวังว่าไม่น่าเกิน 10 ปีข้างหน้า เราคงไปเที่ยวเชียงใหม่ ขอนแก่น สุราษฎ์โดยใช้เวลาประมาณ 2-3 ชม.


ในด้านการขนส่งทางระบบรางนั้น ณ ปัจจุบันภาครัฐมาเน้นการใช้รถไฟรางคู่มากขึ้น โดยเป็นเส้นทางจากกรุงเทพฯไปภาคตะวันออก เพื่อขนส่งออกทางเรือที่แหลมฉบัง แต่ถือว่ายังไม่เพียงพอและล่าช้าเนื่องจากรูปแบบของรถไฟที่ยังเป็นแบบเดิมเมื่อ 40 ปี


แต่จริงๆแล้วเราเดินมาถูกทางแล้วในเรื่องของแอร์พอร์ตลิงค์ เชื่อมต่อพญาไทกับสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งสามารถเช็คอินสายการบินได้ตั้งแต่ต้นทาง โหลดกระเป๋าได้ทันทีหรือมาทำที่สนามบินตามปกติก็ได้ เพียงแต่ว่าเราขาดการประชาสัมพันธ์ที่ดี ต้องยอมรับว่าคนไทยไม่นิยมขนส่งมวลชนเท่าไหร่ ชอบนั่งรถยนต์หรูไปสนามบิน ผิดกับชาวต่างชาติที่มาเที่ยวแล้วจำเป็นต้องใช้ระบบขนส่งมวลชน จึงต้องหันมาเน้นนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น


วันนี้ก็ขอเกริ่นคร่าวๆของการคมนาคมขนส่งในประเทศไทยก่อน ครั้งหน้ามาดูรายละเอียดว่าเราจะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เอื้อการคมนาคมเพื่อรองรับ AEC อย่างไร ติดตามกันนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น