วันเสาร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2555

Power of Gear: หมุนเฟืองเพื่อองค์กร

สวัสดีชาว SMEfriend ทุกคน ต้องขอโทษด้วยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วไม่ได้ลงบทความไปเพราะเหนื่อยจากงานประจำมาก ไม่น่าเชื่อเลยว่าสิ่งที่เรียนมาทั้งป.ตรีและป.โทจะได้นำมาใช้งานจริงในช่วงนี้ แต่อย่างที่เคยบอกไว้นานแล้วว่าอยากเขียนบทความลงแต่มันไม่มีเวลา เรื่องน่ะมีเยอะโดยตอนนี้เล็งไว้หลายเรื่องที่จะมาวิเคราะห์ให้ทั้งเรื่องการแข่งขันในตลาดเครื่องดื่มในช่วงซัมเมอร์และเรื่องของประชาคมเษรษฐกิจอาเซียนก็ยังมีอีกเยอะมากเลย ก็หวังว่าเร็วๆนี้จะได้อ่านกันนะครับ

วันนี้มาเข้าเรื่องเลยดีกว่า เรื่องต่อไปนี้ต้องบอกไว้ก่อนเลยว่าประสบมาเองและแต่งจากประสบการณ์การทำงานล้วนๆเพราะเชื่อว่าทุกวันนี้คนจะเห็นแก่ตัวขึ้นเรื่อยๆทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของตนเองและองค์กรลดลงได้ ซึ่งวันนี้จะขอเสนอเรื่องเกี่ยวกับการขับเคลื่อนในองค์กรโดยคน

สมัยเข้าไปเรียนที่คณะวิศวกรรมศาสตร์เมื่อสิบปีที่แล้ว ได้มีโอกาสได้เกียร์ทองของคณะแจกมา รุ่นพี่และอาจารย์บอกไว้ว่าทุกคนนั้นเปรียบเสมือนเฟือง (Gear) ตัวหนึ่งขององค์กร สังคมหรือหมู่คณะที่คอยขับเคลื่อน ซึ่งเฟืองแต่ละตัวก็มีหน้าที่ของตน ดังนั้นหากต้องการองค์กรให้ประสบความสำเร็จ เฟืองทุกตัวจะต้องทำหน้าที่หมุนสอดคล้องไปพร้อมๆกัน คิดกลับกันก็คือการที่เฟืองตัวใดตัวหนึ่งเกิดหยุดหมุน ฟันของเฟืองสึก กร่อนหรือแกนของเฟืองติดขัด เฟืองตัวอื่นๆก็ทำงานต่อไม่ได้ เช่นนั้นเององค์กรก็จะไม่เดินหน้าอย่างเต็มที่

รู้จักการทำงานของเฟือง>>>คน
เฟืองหรือเรามักเรียกทับศัพท์ว่าเกียร์ รูปลักษณ์ของมันส่วนใหญ่ก็จะมีลักษณะกลม ความหนาก็จะแตกต่างกันไปแล้วแต่ความสามารถในการทำงาน เฟืองแต่ละตัวจะมีขอบเป็นฟันซี่ๆรอบตัว ทำหน้าที่ให้เกิดการสัมผัสกับเฟืองอีกตัวสร้างแรงหมุนกลับทิศทาง (ตามรูป) ซึ่งการหมุนนั้นเองก็จะเกิดแรงขับเคลื่อนต่อๆกันไป เปรียบเฟืองก็เหมือนคน ฟันเฟืองและขนาดก็เหมือนวิชาความรู้และประสบการณ์ที่แต่ละคนมี การหมุนของเฟืองก็คือการทำงานของคน ซึ่งแต่ละคนก็จะมีหน้าที่แตกต่างกันไปในองค์กร เช่นเดียวกับเฟือง อาจจะมีบางตัวทำหน้าที่เหมือนกัน (ตำแหน่งการงานเดียวกัน) บางตัวมีขนาดไม่เท่ากันก็เปรียบเสมือนตำแหน่งหน้าที่ในองค์กร แต่อย่างไรสุดท้ายทุกคนในองค์กรมีจุดมุ่งหมายคือความสำเร็จขององค์กร (เปรียบได้ก็เหมือนกับการทำงานของเครื่องจักร ที่สามารถเดินได้อย่างมรประสิทธิภาพ ไหลลื่นไม่สะดุดนั่นเอง...)

ปัญหาของคน>>>เฟืองไร้ประสิทธิภาพ
ในการทำงานของแต่ละองค์กรก็จะมีวัฒนธรรมองค์กรเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่แล้ว เฉกเช่นเดียวกับเครื่องจักรแต่ละยี่ห้อก็ทำงานต่างกัน แต่ลักษณะงานเหมือนกัน บางองค์กรทำงานเร็ว เป็นทีม มีหน้าที่เฉพาะของแต่ละคนแต่ละตำแหน่ง งานก็ออกมาดีมีคุณภาพ เช่นเดียวกับเครื่องจักร หากเฟืองตัวใดตัวหนึ่งเกิดปัญหา (ปัญหาของเฟืองนั่นน้อยกว่าคนเยอะมาก) การทำงานของเครื่องจักรก็ไม่มีประสิทธิภาพ 100% ผลิตอะไร ออกมาก็ไม่เรียบร้อย ผลผลิตไม่ตามเป้า สุดท้ายลูกค้าก็ไม่ยอมรับการผลิตนั้น คนก็เช่นกัน คนก็เหมือนเครื่องจักร เพราะทำงานตามที่หัวหน้าโปรแกรมให้ไว้ แต่คนก็ถือว่าเป็นเครื่องที่ปัญหาเยอะมากทั้งเรื่องส่วนตัว ครอบครัว การงาน ฯลฯ (ไม่รู้จะพูดหมดไหม?) ซึ่งผู้บริหารซึ่งถือว่าเป็นเจ้าของเครื่องจักรจะต้องมีหน้าที่คอยเอาคนมาตรวจสอบการทำงาน มาชำแหละดูเลยว่าเฟืองตัวไหนมีปัญหา ซ่อมได้ไหม แก้ไขได้ไหม ถ้าได้ก็ถือว่าโชคดีของเจ้าของไป แต่ถ้าไม่ได้ต้องเปลี่ยนเฟืองใหม่ เจ้าของก็เสียตังค์เพิ่มเปรียบได้กับการจ้างพนักงานเข้ามาแล้วทำงานไม่ตามเป้าหรือไม่คุ้มกับเงินที่จ่ายไป (มีอยู่เยอะในสังคม) ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนแต่การเปลี่ยนก็ต้องการค่าใช้จ่ายหรือ Turn Over Cost เพราะกว่าจะเทรนพนักงานใหม่ให้เข้าใจงานได้ เฟืองตัวอื่นๆก็รอทำให้งานไม่ได้ผลตามต้องการ

ทางออกของเรื่องนี้
จริงๆแล้วเรื่องนี้แก้ปัญหาได้ไม่ยากแต่ก็ไม่ง่าย เพราะอย่างที่บอกไป ปัญหาของคนมันมากกว่าเฟืองเยอะ เพราะคนมีสิ่งหนึ่งคือกิเลส เป็นสิ่งที่เฟืองจริงๆไม่มี กิเลสที่ว่าก็คือความอยากของแต่ละลำดับของ Maslow นั่นเอง ซึ่งแต่ละคนในองค์กรนั้นล้วนมีความอยากแตกต่างกันไปเพราะมันขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุ เพศ สถานะครอบครัว ตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งจุดนี้ผู้บริหารจะต้องลงมาดูเลยว่าในแต่ละลำดับขึ้นของ Maslow นั้นมีอะไรและควรใช้อะไรมาแก้ไขได้ ยกตัวอย่างเช่น ระดับพนักงานระดับปฏิบัติการ (Operator) ส่วนใหญ่นั้นต้องการเงินเดือนเพื่อเลี้ยงชีพ สวัสดิการทางสุขภาพ ส่วนพนักงานระดับหัวหน้างานก็จะเน้นความมั่นคงทางการงาน เส้นทางของอาชีพ (Career Path) พนักงานระดับผู้บริหารก็จะเน้นไปที่การยอมรับทางสังคม (ในที่ทำงาน) เป็นต้น หากว่าผู้บริหารสามารถตอบโจทย์ในเรื่องนี้ได้แล้ว อย่างน้อยก็จะขจัดปัญหาการเกเรไม่ยอมหมุนอย่างมีประสิทธิภาพของเฟืองลงไปได้

เฟืองกับพฤติกรรมของคน
หมุนช้า = ขี้เกียจ เบื่องาน เมาเหล้า เหยาะแยะ อิ่มตัวหมดไฟ

หมุนติดขัด = บ่อนทำลาย เกเร ไม่ยอมรับบุคคล ความขัดแย้ง

ฟันบิ่น หัก = ทำงานมากเกินไป สุขภาพไม่ดี ทำงานไม่เต็มที่ อู้งาน

ตัวเล็กเกินไป = ทำงานไม่ตรงที่ศึกษามา คุณภาพไม่ถึงงาน ขาดความรู้ความสามารถ ไม่พัฒนาตนเอง 

สำหรับวันนี้ก็ขอจบเรื่องเฟืองไว้เพียงเท่านี้ดีกว่า อะไรก็ไม่สำคัญเท่าทำตัวเองให้เป็นเฟืองในอุดมคติ (Ideal Gear) หรือหมุนไปรู้จักเหน็ดจากเหนื่อยอย่างเป็นระบบ นั่นล่ะเจ้าของเครื่องจักรเขาชอบ “สวัสดี”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น